วัสดุสมานแผลทางการแพทย์จาก 'น้ำผึ้ง’ ฝีมืออาจารย์ มทร.ธัญบุรี

พุธ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๑:๕๔
มทร.ธัญบุรี โชว์ผลงาน วัสดุสมานแผลต้นแบบทางการแพทย์จากน้ำผึ้ง ใช้ปิดสมานแผล ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เผยช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ

ดร.นริศร์ บาลทิพย์ อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงความสำเร็จในการสังเคราะห์เส้นใยน้ำผึ้งนาโนเพื่อใช้เป็นวัสดุสมานแผลต้นแบบทางการแพทย์ว่า เป็นการนำน้ำผึ้งซึ่งถือเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำผึ้งไทย

"น้ำผึ้งเป็นของเหลวที่ได้จากธรรมชาติ และนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในปัจจุบันทั้งด้านอาหาร ยา รวมถึงเครื่องสำอาง คุณสมบัติที่ช่วยสมานแผลของน้ำผึ้งเป็นที่ยอมรับกันมายาวนาน มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องและยืนยันว่าน้ำผึ้งสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดีในระดับเดียวกันกับสารต่อต้านเชื้ออื่น ๆ ที่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และน้ำผึ้งยังมีคุณสมบัติทางกายภาพอีกอย่างหนึ่งคือความหนืด ทำให้น้ำผึ้งเหมาะสมที่จะนำมาสังเคราะห์เป็นเส้นใยนาโน เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปิดและช่วยสมานแผลต้นแบบสำหรับใช้ทางการแพทย์" ดร.นริศร์ กล่าว

ดร.นริศร์ อธิบายว่า การสังเคราะห์เส้นใยนาโนจากน้ำผึ้งนี้ ใช้กระบวนการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต หรืออิเล็คโตรสปินนิ่ง อาศัยแรงทางไฟฟ้าในการผลิตเส้นใย เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการสังเคราะห์เส้นใย ซึ่งจะได้เส้นใยที่มีขนาดตั้งแต่ระดับไมโครเมตรและเล็กลงไปจนถึงระดับนาโนเมตรเส้นใยที่ได้จากกระบวนการนี้จะมีลักษณะเป็นโครงร่างแห และมีความพรุนส่งผลถึงความสามารถในการแพร่ผ่านของก๊าซออกซิเจนไปยังบริเวณแผล และยังช่วยลำเลียงของเสียไม่ว่าจะเป็นของไหลหรือเซลล์ต่าง ๆ ที่หลุดออกมาจากบริเวณแผล ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของวัสดุสมานแผลที่ดีและเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน ทำให้แผลหายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

จากคุณสมบัติอันโดดเด่นของน้ำผึ้งไทยและคุณสมบัติของเส้นใยขนาดนาโนเมตรที่ผลิตได้จากกระบวนการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิตข้างต้น จึงเหมาะสมกับการทำเป็นวัสดุสมานแผลทางการแพทย์ แต่น้ำผึ้งไม่สามารถสังเคราะห์เป็นเส้นใยขนาดนาโนเมตรได้ด้วยการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิตจึงจำเป็นต้องมีการผสมด้วยพอลิเมอร์ที่สามารถสังเคราะห์เป็นเส้นใยด้วยกระบวนการดังกล่าวได้และต้องมีความเข้ากันได้ทางชีวภาพกับสิ่งมีชีวิต ในการศึกษาวิจัยนี้ได้เลือกเจลาตินมาใช้เป็นพอลิเมอร์ร่วมกับน้ำผึ้ง เพื่อช่วยในการขึ้นรูปของเส้นใย และได้ศึกษาหาสภาวะการสังเคราะห์ที่เหมาะสมโดยพิจารณาจาก (1.) อัตราส่วนของน้ำผึ้งต่อพอลิเมอร์ผสม (2.) ศักย์ไฟฟ้าของการสังเคราะห์เส้นใย และ (3.) อัตราการไหลของสารละลาย รวมถึงศึกษาสมบัติเบื้องต้นของเส้นใยที่สังเคราะห์ได้ ทั้งในส่วนของลักษณะและขนาดของเส้นใย ร้อยละการอุ้มน้ำของเส้นใย และค่ามุมสัมผัสระหว่างพื้นผิวของเส้นใยกับหยดน้ำ ที่มีความเหมาะสมจะนำไปพัฒนาใช้เป็นเป็นวัสดุสมานแผลทางการแพทย์

จากผลการทดลองในภาพรวม พบว่า สามารถสังเคราะห์เส้นใยที่มีปริมาณน้ำผึ้งได้สูงสุดถึง 20% แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการสังเคราะห์เส้นใยนาโนน้ำผึ้งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปพัฒนาใช้เป็นวัสดุปิดและสมานแผลต้นแบบทางการแพทย์ภายใต้เงื่อนไขการสังเคราะห์ในการวิจัยนี้มีสัดส่วนของปริมาณน้ำผึ้ง 5% ใช้ศักย์ไฟฟ้าในการสังเคราะห์ 17 กิโลโวลต์ และใช้อัตราการไหลของสารละลายในการสังเคราะห์ 0.06 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง โดยเส้นใยที่สังเคราะห์ได้จากเงื่อนไขดังกล่าว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 537.16 ±17.35 นาโนเมตร มีค่าร้อยละการอุ้มน้ำของเส้นใยเฉลี่ย 8.01 ± 0.86 ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นสมานแผลทั่วไปที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่สามารถดูดซับน้ำได้เพียงร้อยละ 2.3 และมีค่ามุมสัมผัสระหว่างหยดน้ำกับเส้นใยเฉลี่ยที่เหมาะสมคือ37.67 ± 2.22 องศา ซึ่งเป็นค่าที่แสดงให้เห็นว่าเส้นใยมีสมบัติความชอบน้ำ (Hydrophilic) ส่งผลช่วยให้เส้นใยสามารถดูดซับของเหลวได้เป็นอย่างดี

วัสดุปิดและสมานแผลต้นแบบทางการแพทย์นี้ เหมาะกับแผลที่สูญเสียผิวหนัง เช่น น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ รวมถึงแผลผ่าตัดศัลยกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริง ทดสอบการเร่งการสมานแผลโดยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มสัดส่วนของปริมาณน้ำผึ้งให้มากยิ่งขึ้นเพื่อแสดงฤทธิ์การฆ่าเชื้อโรคที่ดีขึ้น

"หากเส้นใยน้ำผึ้งนาโนที่ถูกสังเคราะห์และพัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิภาพในการสมานแผลและใช้งานได้จริง จะส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ทางหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุสมานแผลราคาแพงที่ต้องสั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ที่มีราคาแพงของประเทศได้ ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงผึ้งให้มีรายได้ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่น้ำผึ้งเกิดการตกผลึก"

"การรักษาบาดแผลนอกจากจะต้องอาศัยการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้องแล้ว การทำความสะอาดและปกป้องบาดแผลให้ปราศจากการติดเชื้อโดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมในการปิดแผลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน" ดร.นริศร์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๗ บมจ. ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จัดงาน 28th SAHACOGEN Moving Towards RATCH PATHANA ในโอกาส Rebranding
๑๑:๒๙ COCOCO จัด Opportunity Day ประจำไตรมาส 1/2567 พร้อมส่งซิกเติบโตต่อเนื่อง
๑๑:๔๑ กรุงศรี ออโต้ พร้อมให้ความรู้และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทางการเงิน ในรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันกับโครงการ 'Krungsri Auto $mart
๑๑:๐๒ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ขอเชิญร่วมกิจกรรม ธรรมะในสวน เพื่อร่วมหาคำตอบ นิพพาน ไกลเกินเอื้อม? ณ สวนเบญจกิติ 1 มิถุนายน 2567
๑๑:๔๙ PIMO-ไพโม่ อ้างแขนรับออเดอร์ใหม่จากลูกค้า ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
๑๑:๕๒ มกอช. เดินหน้าเสริมความรู้ QR Trace on Cloud และ DGTFarm
๑๑:๐๗ เดลล์ เทคโนโลยีส์ เปิดตัว Dell AI Factory เพื่อการสร้างนวัตกรรม ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้อย่างเร่งด่วน
๑๑:๑๒ พาราไดซ์ พาร์ค ผนึก ยังแฮปปี้ และ สสส. ชวนวัยอิสระมาปลุกพลังพิเศษในตัวคุณ ในงาน Eldergy Festival บูสพลังเก๋า
๑๑:๓๓ พิธีปิดโครงการ International x-change camp 2024
๑๑:๐๘ ศูนย์หนังสือจุฬา ฯ ชวนน้อง. เสริมความรู้ด้านการเงินผ่านเกม