“อัมมาร” เผย สปส.เบี้ยวดูแลสิทธิ์รักษาคนพิการ

จันทร์ ๒๙ สิงหาคม ๒๐๑๖ ๑๒:๑๗
"อัมมาร" เผยประกันสังคมเคยรับปากคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน ดูแลสิทธิ์รักษาพยาบาลคนพิการ แต่สุดท้ายก็เงียบไป

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีที่ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ออกมาชี้ประเด็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าผู้พิการที่สมัครเข้าทำงานตามนโยบายรัฐ ต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลเนื่องจากต้องถูกโอนย้ายจากบัตรทองสู่ประกันสังคม จากที่รักษาฟรีทุกโรงพยาบาลจะเหลือเพียงโรงพยาบาลเดียว โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้สมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน ได้มีการชี้ประเด็นดังกล่าว ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้คือผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็รับปากจะไปดูในรายละเอียดให้ แต่เรื่องนี้ก็เงียบไปจนกระทั่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวหมดหน้าที่ลง

"เราต้องการจะให้คนพิการทำงานถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าจะทำได้มากทำได้น้อย ถ้าเขาทำงานได้ก็จะดีในแง่ของสังคม ทีนี้ ไป ๆ มา ๆ กฎระเบียบขององค์กรต่าง ๆ มันก็แปลก เพราะสิทธิ์ 30 บาท เป็นสิทธิ์ที่ดูแลคนพิการอย่างต่อเนื่อง ส่วนประกันสังคมไม่ดูแลคนพิการ หรือใช้วิธีเหมาจ่ายหนเดียวแล้วเลิกรากันไป พอไปทำงาน ตามกฎหมายก็ต้องไปอยู่กับประกันสังคม ผมคิดว่าประกันสังคมก็ไม่ควรจะเกี่ยงเรื่องนี้ โดยหลักการแล้วเขาไม่ควรเสียสิทธิ์ แต่กลายเป็นว่าพอไปทำงานแล้วเขาเสียผลประโยชน์ มันก็น่าเสียดาย" ศ.ดร.อัมมาร กล่าว

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมควรติดตามแก้ไข เป็นอำนาจของบอร์ดประกันสังคมว่าจะให้สิทธิประโยชน์อะไรในรายละเอียด จะให้เลิกแบบเหมาจ่ายแล้วจ่ายตามจริงอย่างไรก็ว่ากันไป

"ผมไม่อยากพูดเรื่องความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะมันเห็นกันโต้ง ๆ ว่าคนไม่ทำงานแล้วได้มีโอกาสทำงาน เขาเป็นคนพิการที่ตอนแรกอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ฟื้นฟูขึ้นมาจนกระทั่งทำงานได้ พอทำงานได้ทำไมไม่ให้เขาทำงาน ผมเชื่อว่าคนพิการเกือบทั้งหมดต้องการทำงานเองถ้าเป็นไปได้" ศ.ดร.อัมมาร กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ยศ ชี้ประเด็นว่าผู้พิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พิเศษกว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั่วไป โดยสามารถใช้บริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง และบางครั้งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษซึ่งมีอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้นการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้พิการให้สามารถเลือกใช้บริการสถานพยาบาลใดก็ได้นั้นจะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อผู้พิการเข้าทำงานตามสถานประกอบการ ก็จะถูกเปลี่ยนสิทธิเป็นประกันสังคม ต้องเริ่มจ่ายเบี้ยสมทบ และเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๙ กรมวิทย์ฯ บริการ นำทีมนักวิทย์ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ จังหวัดนครพนม
๐๙:๓๔ Phayao Fish Frog Festival 2025 หนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น ปลุกคลัสเตอร์ปลานิลพะเยา
๐๙:๓๓ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัมแบ็กโพเดียม เอเชีย โร้ด เรซซิ่งฯ อนุภาพ - กฤตภัทร คืนฟอร์มเก่งคว้ารองแชมป์สนามแรก
๐๙:๓๐ Amaze Super App ก้าวใหม่ของ Loyalty E-Commerce ไทย เชื่อมทุกแต้มสู่มูลค่าจริง สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอนาคต
๐๙:๕๓ SCGP เผยผลงาน Q1 เติบโต รุกตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียน-เสริมพอร์ตสินค้าอุปโภคบริโภค-บริหารต้นทุน ชูแผนปรับตัวไวรับมาตรการภาษี
๐๙:๓๑ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดประชุมสามัญประจำปี 2568
๐๙:๕๓ อาการดวงตาที่เป็นสัญญาณเตือน.ต้องรีบมาพบแพทย์
๐๙:๐๑ วัตสัน ประเทศไทย เผยทิศทางธุรกิจปี 2568 ชู 6 กลยุทธ์ภายใต้แนวคิด Health is Beauty, Beauty is Health
๐๙:๔๐ ทำไมกราโนล่าถึงเป็นมื้อเช้าและอาหารว่างยอดฮิต ร่วมหาคำตอบกับ เนเจอร์ เซ็นเซชั่น
๐๙:๑๙ ชีววิทยา ม.พะเยา สุดเจ๋ง! คว้า 1 ใน 5 ทีม นวัตกรรมสร้างสุข ได้รับเงินต่อยอดจาก NIA