หนุนแยก 'แอมเฟตามีน’ ออกจากยาบ้า เพิ่มโอกาสเลิกยา แนวทางเดียวกับเมทาโดนเลิกเฮโรอีน

พฤหัส ๐๘ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๐:๐๗
"หมอพูลชัย" หนุนแยก "แอมเฟตามีน" เป็นยาเสพติดประเภท 2 เพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติด ใช้แนวทางเดียวกับเมทาโดนบำบัดผู้เสพเฮโรอีน มองผู้เสพเป็นเพียงผู้ป่วย เพิ่มโอกาสในการเลิกยา ซ้ำช่วยตัดวงจรขายยาเสพติด หลังมาตรการปราบปรามไม่ได้ผล แถมส่งผลผู้ต้องขังล้นเรือนจำ คดีล้นศาล

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชนกล่าวสนับสนุนแนวคิดการแยก "แอมเฟตามีน" ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 เป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อใช้ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดว่า จากที่ได้ทำงานวิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE และได้มีโอกาสคลุกคลีกับน้องๆ ที่ทำงานด้วยซึ่งมาจากเรือนจำและบางคนติดยาเสพติด ทำให้ทราบปัญหาของคนกลุ่มนี้ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ร้าย หากมีทางเลือกในการบำบัดรักษา ต่างอยากที่จะกลับเข้าสู่สังคมและมีชีวิตที่เป็นปกติ

ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ารับการบำบัดเลิกยาเสพติดแล้ว แต่เมื่อเกิดความอยากยาและไม่มีทางออก ทำให้คนเหล่านี้ต้องกลับไปเสพยาใหม่ และกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดเช่นเดิม ดังนั้นการแยกแอมเฟตามีนออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 1 และให้เป็นยาควบคุมเพื่อบำบัด จะเป็นทางออกให้กับคนกลุ่มนี้ได้

นพ.พูลชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แอมเฟตามีนหรือที่มักถูกเรียกว่ายาบ้า เป็นยาที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งยังไม่มีความรุนแรงและเสพติด หากหยุดใช้ก็หายได้ นอกจากถูกจัดเป็นกลุ่มยาขยันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยังเป็นยารักษาโรคสมาธิสั้น แต่ภายหลังมีผู้นำไปสังเคราะห์ต่อจนกลายเป็น "เมทแอมเฟตามีน" ที่มีฤทธิ์ต่อการเสพติดที่รุนแรงและมีราคาแพง ผู้ที่เสพแล้วโอกาสในการเลิกนั้นยาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจับกุมผู้เสพมาไว้ในเรือนจำและการบำบัดให้เลิกยา

แต่จากการดำเนินการกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่าไม่ได้ผล เพราะสงครามยาเสพติด ซึ่งคาดว่ามีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน ทั้งที่อยู่ในเรือนจำและซ่อนอยู่ตามชุมชน นอกจากสร้างปัญหาให้กับสังคมแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับระบบยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ต้องขัง โดยร้อยละ 70 เป็นผู้เสพยา ขณะเดียวกันยังเป็นภาระของตำรวจและศาล เนื่องจากต้องมาคอยปราบปรามยาเสพติดและตัดสินคดียาเสพติดที่ล้นศาล แทนที่จะมีเวลาเพื่อไปจัดการปัญหาอื่นเพื่อรักษาความสงบหรือทำงานที่สร้างสรรค์

ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่โดยมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และใช้แนวทางเดียวกับผู้เสพเฮโรอีนที่ใช้สารเมทาโดนบำบัดระยะยาว ลดปริมาณการใช้ยาแบบค่อยเป็นค่อยไปจนหยุดยาในที่สุด โดยใช้แอมเฟตามีนเป็นยาในการบำบัด นอกจากนี้ยังเป็นการตัดวงจรการขายยาเสพติดประเภทนี้ เพราะผู้เสพสามารถมาขอรับยาโดยการบำบัดในโรงพยาบาลได้

สำหรับแนวทางนี้มองว่าทำได้ เพราะระบบสาธารณสุขบ้านเรามีระบบที่ดูแลการใช้ยาที่เข้มข้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้มอร์ฟีนกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดอาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาเมทาโดนเพื่อบำบัดผู้เสพเฮโรอีนในปัจจุบัน โดยมีระบบที่ป้องกันการรั่วไหล โดยเราใช้สามารถใช้วิธีการจัดการเดียวกันนี้เพื่อบำบัดผู้ติดยาแอมเฟตามีนได้ อีกทั้ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันว่าระบบของกระทรวงสาธารณสุขรองรับได้ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลมีระบบที่ต้องรองรับการดูแลประชากร 60 ล้านคนอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระแต่อย่างใด

"การให้แอมเฟตามีนเป็นยาบำบัด เป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 จะช่วยลดปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำได้ ซึ่งบางคนไม่ได้เป็นผู้ร้ายแต่เสพเพราะความอยากลอง โดยเปลี่ยนจากผู้เสพเหล่านี้จากที่อยู่ในเรือนจำให้ออกมาอยู่ภายนอก และแทนที่จะวิ่งไปหาซื้อยาเพื่อเสพซึ่งจะนำเข้าสู่วงจรยาเสพติดเดิมๆ ก็ให้มารับแอมเฟตามีนเพื่อบำบัดที่โรงพยาบาลแทนหรือบางคลินิกที่เป็นเฉพาะทาง โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้การรักษาเป็นจริงได้"

นพ.พูลชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผลที่ได้จากการแยกแอมเฟตามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 คือแพทย์สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคเทคโนโลยี คนติดสมาร์ทโฟน ไม่แต่เฉพาะเด็กแต่ยังพบในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งยาที่ใช้รักษามีราคาเม็ดละ 170 บาท ต้องกินวันละ 3 ครั้ง ขณะที่แอมเฟตามีนราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาท ซ้ำยังกินแค่เสี้ยวหนึ่งของเม็ดยาเท่านั้น

ต่อข้อซักถามว่า มองความเป็นไปได้ของการผลักดันเรื่องนี้อย่างไร นพ.พูลชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในต่างประเทศหรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติเอง และมีบางประเทศเริ่มใช้มาตรการนี้แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการต่อสู้เพื่อปราบปรามอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพียงแต่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมก่อนว่า การแยกแอมเฟตามีนออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไม่ได้เป็นการลดขั้นยาบ้าลง เพียงแต่ให้แพทย์ได้มีเครื่องมือในการบำบัดรักษาได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเลิกยาเสพติดให้กับผู้เสพและช่วยให้คนเหล่านี้คืนสู่สังคมได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5