งานวิจัยร่วม J.P. Morgan - SMU ชี้ไทยควรเรียนหลักสูตรเน้นเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาแรงงานเทคนิคและแรงงานอาชีวะขาดแคลน

อังคาร ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๐๙:๔๕
J.P. Morgan ร่วมกับศูนย์พัฒนาการศึกษา เปิดตัวโครงการเตรียมความพร้อมแรงงานเพื่อช่วยลดช่องว่างด้านทักษะการทำงาน

ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเทคนิคและแรงงานอาชีวะที่มีคุณวุฒิในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและแพร่หลาย เนื่องมาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้ทัน ประกอบกับอคติทางสังคมที่ให้คุณค่ากับการศึกษาเชิงวิชาการมากกว่า

นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (SMU) ร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกอย่าง เจ.พี.มอร์แกน (J.P. Morgan) หลังจากได้เก็บข้อมูลปัญหาด้านทักษะแรงงานที่ประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยต้องประสบ เป็นระยะเวลา 1 ปี

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การขาดแคลนแรงงานทักษะเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนในอุตสาหกรรมสำคัญที่กำลังเติบโตได้มากของไทย เช่น ยานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และการท่องเที่ยว ซึ่งควรได้รับการแก้ไข หากไทยต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตและบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงให้ได้ภายในปี 2570

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีนักเรียนไทยราวร้อยละ 35 สมัครเรียนในสถาบันอาชีวะ และจากจำนวนนี้มีกลุ่มใหญ่ที่เมื่อจบการศึกษาแล้วกลับไม่มีทักษะเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เท่ากับว่าระบบการให้ความรู้และฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ (TVET) ของไทยยังต้องได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางกระแสความอคติที่สังคมยังคงมีต่อการศึกษาแขนงนี้อยู่

จากงานวิจัยฉบับนี้ ปัญหาด้านทักษะงานนี้แย่ลงเนื่องจากหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ ความต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานไทยยังมีศักยภาพในการสื่อสารภาษาต่างประเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นอุปสรรคของประเทศในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานเกือบเต็ม แต่ยังมีภาวะเร่งด่วนที่ต้องจัดการ คือควรต้องใช้กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีให้มากขึ้นและพึ่งพาแรงงานคนให้น้อยลง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูงให้ได้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โครงการให้ความรู้และการอบรมต้องได้รับการยกระดับให้สามารถสร้างเสริมทักษะการทำงานและการสื่อสารที่จำเป็น เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ ให้กับแรงงาน" อาร์นอด เด ไมเยอร์ ประธาน SMU กล่าว

งานวิจัยเสนอแนะให้ใช้แรงจูงใจเชิงนโยบายในระดับชาติ เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามารับการอบรมในโรงเรียนเทคนิคและอาชีวะ และช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องดำเนินควบคู่ไปกับความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์(STEM) ในโรงเรียน ต่อไป

นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุด้วยว่า รัฐบาลควรค้นคว้าหาวิถีทางใหม่ในการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นกำลังหลักในโครงการอบรมทักษะแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับภาครัฐโดยตรงหรือกับสถาบันการศึกษา นี่จะทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนสอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนทักษะข้างเคียงที่จำเป็น ตลอดจนการสื่อสารภาษาอังกฤษนั้น สามารถพัฒนาขึ้นจากเดิมได้อีก รัฐบาลสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ให้บริการทางการศึกษาภาคเอกชน เพื่อให้มาร่วมงานกับส่วนกลางและทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งขึ้นในการแก้ปัญหาการศึกษานี้ของประเทศ

เพื่อตอบสนองผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ในวันนี้ บริษัท J.P. Morgan และองค์กรวิจัยและพัฒนาแบบไม่แสวงกำไรนานาชาติอย่าง ศูนย์พัฒนาการศึกษา (EDC) ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการเตรียมความพร้อมแรงงาน ที่มีจุดประสงค์เพื่อลดช่องว่างด้านทักษะการทำงานลง โดยโครงการ "ขับเร่งผลสำเร็จในการทำงานและเตรียมความพร้อมการจ้างงาน 2" (AWARE2) นี้ เป็นโครงการพิเศษที่ช่วยให้เยาวชนในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้เพิ่มพูนทักษะทางเทคนิคและคุณค่าที่ควรแก่การจ้างงาน ซึ่งนายจ้างกำลังต้องการ ท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในภูมิภาค

"เป้าหมายของ EDC คือเพื่อพัฒนารูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและจะเตรียมเยาวชนอาเซียนให้พร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดวิชาชีพที่ต้องสานต่อไปตลอดชีวิตในเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล" เดวิด ออฟเฟนเซนด์ ประธานและซีอีโอ EDC กล่าว "เรารู้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยสร้างงานใหม่ ตลอดจนแทนที่ตำแหน่งงานบางส่วนด้วยระบบอัตโนมัติ การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนนักศึกษาในด้านทักษะการเรียนรู้ขั้นสูง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ กระบวรการคิดสำหรับการออกแบบ และการวิเคราะห์ประยุกต์และทักษะการแก้ปัญหา ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เยาวชนเหล่านี้จะมีศักยภาพในการปรับตัวพอที่จะรับมือและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของอุปทานในภาคเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป"

ทั้งนี้ โครงการในไทยจะมีการร่วมมือกับคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย และผู้อำนวยการของสถาบันการอาชีวะไทย เพื่อปรับปรุงหลักสูตร โดยจะเน้นที่การพัฒนาแอปพลิเคชันและการออกแบบอัญมณี

"ไทยปรารถนาที่จะเป็นฐานการผลิตที่มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้สูงของภูมิภาค และ J.P. Morgan ก็ต้องการสนับสนุนเป้าหมายนี้ด้วย แน่นอนว่าแรงงานคุณภาพสูงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และ J.P. Morgan ก็ช่วยเหลือโครงการเตรียมความพร้อมแรงงานอยู่ถึง 14 โครงการ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมุ่งพัฒนาในภาคส่วนที่ได้กล่าวไป รวมถึงในไทยด้วย" หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส J.P. Morgan ประจำประเทศไทย กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง