ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังร่วมกับภาครัฐและเอกชนประกาศความสำเร็จ14 ปี ในการเข้าถึงยาและการเพิ่มโอกาสในการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์และมะเร็งทางเดินอาหารจีสต์

ศุกร์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๐๙:๓๒
ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยได้จัดงานแถลงข่าว 14 ปี การเข้าถึงยาอิมมาตินิบและการเพิ่มโอกาสในการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์และมะเร็งทางเดินอาหารจีสต์ เพื่อขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้าถึงยาอิมมาตินิบ ได้แก่ คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Working Group), มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) และ บริษัทโนวาร์ตีส เอจี จำกัด การแถลงข่าวดังกล่าว นอกจากเป็นการขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพของผู้ป่วยทุกคนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 14 ปี ยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคแนวทางการรักษา รวมถึงมุมมองของแพทย์และผู้ป่วยต่อการรักษา สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการรักษาโรคของผู้ป่วยและสร้างเสริมกำลังใจให้กับเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน

นายจีระพล ไชยมงคล ประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า จากความร่วมมือเป็นเวลา 14 ปี ทำให้โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ จีแพป (GIPAP) ประสบความสำเร็จสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทยของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์ และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์อย่างต่อเนื่อง โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือและร่วมมือด้วยดีจากกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบริษัทโนวาร์ตีส เอจี จำกัด ในการจัดสรรยาอิมมาตินิบ มีไซเลตให้แก่ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง และเรื่องน่ายินดีที่เพิ่มขึ้นคือ ในขณะนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์สิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทอง สามารถเข้าถึงการตรวจติดตามผลการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบ คือ การตรวจวัดระดับยีน BCR-ABL ในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารจีสต์ในโครงการจีแพปเอง ก็สามารถได้รับขนาดยาอิมมาตินิบเพิ่มขึ้นมากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีความจำเป็นอีกด้วย

นายจีระพล กล่าวว่า รู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จในการร่วมมือกัน จนทำให้ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงเข้ามาเป็นจิตอาสา ทำงานเพื่อผู้ป่วยคนอื่นเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ในระยะแรกของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ จึงทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี แต่จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันโครงการนี้ได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับยาที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพดี และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยาได้ ผู้ป่วยโรคนี้กลายเป็นคนปกติอยู่ในสังคมไทย เหมือนโรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง สามารถทำให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

ด้าน ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์ (Chronic Myeloid Leukemia, CML) สามารถเกิดได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36-45 ปี และจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อุบัติการณ์ที่รายงานคือประมาณ 0.5 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี โดยจะมีผู้ป่วยในประเทศไทยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค CML ประมาณ 700-1,000 รายต่อปี สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิด CML นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงขึ้น โดยอาการของผู้ป่วย จะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผอมลง ทานข้าวแล้วแน่นท้อง อีกทั้งมีก้อนในท้อง ซึ่งการเจอก้อนในท้องอาจจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี

ปัจจุบันมาตรฐานการรักษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแนะนำให้ ยาอิมมาตินิบ 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือยานิโลตินิบ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งยาทั้งสองตัวสามารถให้ผลการตอบสนองที่ดี แต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและดูแลตนเองตามแพทย์แนะนำจึงจะได้ผลค่อนข้างดี ผู้ป่วยจึงสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวไม่แตกต่างจากโรคเรื้อรังทั่วไปและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป โดยเป้าหมายในการรักษา คือ การลดจำนวนเซลล์มะเร็งในร่างกายให้เหลือน้อยที่สุดอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าสู่ระยะลุกลาม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้ ดังนั้นการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญมาก เพื่อสังเกตว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดีหรือไม่ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับระยะของโรค โดยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจวัดปริมาณโปรตีนที่ผิดปกติ (BCR-ABL) หรือที่เป็นผลผลิตจากยืนที่ผิดปกติในร่างกายได้ เรียกว่า การตรวจ RQ-PCR (Real-Time Quantitative Polymerase Chain Reaction) ซึ่งตามเกณฑ์ผู้ป่วยทุกคนควรตอบสนองต่อการรักษาจนถึงระดับลึกที่สุด คือ Major Molecular Response (MMR) โดยมีปริมาณ BCR-ABL ≤ 0.1 เปอร์เซ็นต์ IS ภายในระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน หากยังไม่ได้ผลการตอบสนอง ผู้ป่วยก็ควรได้รับการพิจารณาเปลี่ยนยารักษาต่อไป

ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวต่อว่า ด้วยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยในสิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทอง สามารถเข้าถึงการตรวจ RQ-PCR ได้แล้ว จึงอยากกล่าวขอบคุณในนามของแพทย์ ที่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดCML รวมถึงตัวผู้ป่วยและครอบครัว ขอบคุณบริษัทโนวาร์ตีส ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนายาที่ดี ริเริ่มให้เกิดโครงการจีแพปขึ้นมาในประเทศไทย และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐ ประกันสังคม และ สปสช. สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือในการสานต่อความหวังผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิด CML ให้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ (GIST) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมะเร็งจีสต์เกิดจากเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิด คือเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ เพราะฉะนั้นจึงสามารถพบมะเร็งจีสต์ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร โดยตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหาร มะเร็งจีสต์ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์จำนวน 1,581 ราย และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปีสำหรับอาการของมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์มีความคล้ายคลึงกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายคลำพบก้อนในท้อง ซึ่งหากก้อนมะเร็งจีสต์อยู่ในกระเพาะอาหาร ก็อาจจะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเลือดจะปนออกมากับอุจจาระทำให้อุจจาระมีสีดำ และหากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารมาก ผู้ป่วยก็อาจจะอาเจียนออกมาเป็นเลือดได้ นอกจากนั้นคนไข้ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เนื่องจากมีเลือดออกด้วย ซึ่งอาการของมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ไม่มีข้อเจาะจง แต่ถ้าหากมีอาการที่น่าสงสัยแบบเรื้อรัง และรับการรักษาโรคทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูว่ามีก้อนในท้องหรือไม่ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี อาทิ เอ็กซเรย์ดูก้อนในท้องหรือส่องกล้องเข้าไปดูก้อนในกระเพาะอาหาร โดยการส่องกล้องจะตัดชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจยืนยันว่าเป็นมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์หรือไม่

ระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ จะมีลักษณะเป็นก้อนอยู่บริเวณเดียว ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดและมีโอกาสที่จะหายขาด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการผ่าตัด คนไข้ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบขึ้นมาได้ ซึ่งแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค แต่ถ้าหากตัวโรคได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นแล้ว ก็จะมีโอกาสน้อยในการรักษาให้หายขาด ซึ่งถ้าหากโรคกระจายไปที่ตับก็ต้องรักษาด้วยยา เดิมใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่เนื่องจากมะเร็งจีสต์เป็นโรคที่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดน้อยมาก ช่วงหลังจึงมีการพัฒนายา Targeted Therapy หรือยาที่รักษาได้โดยตรง คือ ยาอิมมาตินิบ โดยทางการแพทย์พบว่ายากลุ่มนี้สามารถที่จะควบคุมโรคได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ด้าน นพ. ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของการรักษาโรคมะเร็งจะพบว่าสถิติของผู้ป่วยมะเร็งมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 7 ต่อปี อัตราการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น หรือมีประชาชนป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น ซึ่งแต่ละสิทธิ์การรักษาของแต่ละกองทุนจะมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการไม่เหมือนกัน ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงมีแนวทางบูรณาการมะเร็งให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุนสุขภาพ ในส่วนของสปสช. นั้น ก็ได้เห็นชอบในหลักการที่จะบูรณาการระบบบริการสำหรับการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งและการดูแลรักษาโรคมะเร็ง 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ 2.การส่งเสริมป้องกัน 3.การคัดกรองโรคมะเร็ง 4.การจ่ายชดเชยค่าบริการ 5.การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 6.การทำฐานข้อมูลผู้ป่วยมะเร็ง

สำหรับการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็ง สปสช.ยังคงมุ่งมั่นยึดหลักในการช่วยเหลือประชาชนในการรักษาจากการบริหารจัดการยา ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้เพิ่มรายการยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มยาต่าง ๆ นอกจากนี้นโยบายด้านยาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา รวมถึงการบริหารจัดการยาของสปสช. จะส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายาโดยรวม ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ปีละเกือบหมื่นล้านบาท แต่จะช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนรักษาพยาบาลอื่นด้วย ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ยกตัวอย่าง กรณีโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ สปสช. ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจ RQ-PCR ได้แล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์แม้ตอนนี้ทางเลือกในการเข้าถึงยารักษาอาจจะยังไม่เต็มที่ แต่ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

ด้าน พญ.จิตสุดา บัวขาว ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์นั้นมีเป้าหมายก็คือ "ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี" ดังเช่น ในปี 2558 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การเภสัชกรรม ในการบริหารจัดการยาอิมมาตินิบซึ่งเป็นยาบริจาคทางกรมฯ มีความรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทย ให้กับบรรดาผู้ป่วยผู้มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์

ด้านนางกรรณิการ์ พฤกษชาติ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอิลอยด์และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้อีกด้วย

ด้านมร. โทมัส วายโกลด์ ประธานฝ่ายยามะเร็ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาใต้ บริษัทโนวาตีส เอจี จำกัด กล่าวถึงบทบาทของผู้ผลิตในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งว่า บริษัท โนวาร์ตีส ฟาร์มา เอจี ผู้คิดค้นนวัตกรรมและผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ยาที่สามารถคิดค้นได้นั้นจะไม่มีประโยชน์ หากไม่สามารถช่วยบรรเทาโรคของผู้ป่วยได้ ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีปณิธานในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงยานวัตกรรมผ่านโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยต่างๆ ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 66 ล้านคนทั่วโลก ให้เข้าถึงยาของบริษัทฯ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาใต้

โครงการต่าง ๆ จะไม่สามารถมีความยั่งยืนได้ หากขาดความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กองทุนประกันสุขภาพ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วย สำหรับประเทศไทยทางโนวาร์ตีสได้ดำเนินโครงการจีแพปมาเป็นปีที่ 14 แล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยมากกว่า 4,980 ราย โดยมีผู้ป่วยในโครงการที่มีชีวิตอยู่และยังได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนถึง 2,415 ราย และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่กำลังจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต ปัจจุบันโรงพยาบาลและศูนย์การรักษาพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจีแพป ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 73 แห่ง และมีแพทย์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 215 ท่าน การที่โครงการจีแพป ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับยาที่ดีที่สุดและสร้างกำลังใจ แก่ผู้ป่วย จึงก่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมด้วยความพร้อมทั้งกายและใจ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนของตนเองต่อไปในภายภาคหน้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง