พ.ร.บ. คุ้มครองการดำเนินงาน APTERR ศูนย์กลางเพื่อการบริหารจัดการสู่เป้าหมาย

พุธ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๐๘
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะหน่วยประสานงานหลักของไทย ในองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ประสบความสำเร็จในการเสนอให้รัฐบาลไทยตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกให้แก่สำนักเลขานุการ APTERR และเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม2559

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงอาหารมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาผลกระทบจากความไม่มั่นคงด้านอาหารแก่ประชาชนในยามที่เกิดภาวะวิกฤต โดยได้ร่วมกับภูมิภาคอาเซียน ริเริ่มการจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนตั้งแต่ปี 2545 และได้พัฒนาให้เป็นโครงการนำร่อง จนกระทั่งได้ดำเนินการจัดทำเป็น "ความตกลงการสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม" (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) Agreement) ซึ่งรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกับประเทศบวกสาม (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ได้ร่วมลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2554 เพื่อจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR)

การจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือ APTERR มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกลไกในการจัดการระบบสำรองข้าวและระบายข้าวเมื่อเกิดความจำเป็นในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน สำหรับช่วยเหลือประเทศสมาชิกด้านมนุษยธรรม รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ซึ่งต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีเกษตรของประเทศบวกสาม ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของไทยให้จัดตั้งสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (สำนักเลขานุการ APTERR) ในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ สศก. เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักเลขานุการ APTERRในประเทศไทย

สศก. ในฐานะหน่วยประสานงานหลักของไทยสำหรับ APTERR จึงได้ดำเนินการเสนอให้มีการตรา "พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2559" เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักเลขานุการ APTERR ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยได้รับเอกสิทธิ์และการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย โดย พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ทำให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การที่ไทยได้ดำเนินการเพื่อออกกฎหมายสำหรับการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้แก่สำนักเลขานุการ APTERR และเจ้าหน้าที่ จะช่วยสนับสนุนให้สำนักเลขานุการฯ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการเกิดความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน ให้ความช่วยเหลือรัฐสมาชิกในด้านมนุษยธรรมโดยไม่เป็นการบิดเบือนตลาดการค้าข้าวระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมบทบาทนำของไทยด้านความมั่นคงด้านอาหาร ในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๓๐ เม.ย. GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๓๐ เม.ย. PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๓๐ เม.ย. LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๓๐ เม.ย. ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๓๐ เม.ย. LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๓๐ เม.ย. SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๓๐ เม.ย. STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๓๐ เม.ย. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน