มธ.จับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำจีน เปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนอินเตอร์ ร่วมพัฒนาสาธารณสุขไทยสู่ระดับสากล

พฤหัส ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๒:๓๕
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง เตรียมเปิดหลักสูตร "การแพทย์แผนจีนบัณฑิต" หลักสูตรนานาชาติในปี 2560 โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในเชิงระบบ (System-Based) ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนมาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ระดับสากล อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญา 2 ใบ (Dual Degree) คือปริญญาการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.)จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 7605 หรือเข้าไปที่ www.cicm.tu.ac.th

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง (Beijing University of Chinese Medicine) เตรียมเปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีน มาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ระดับสากล อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคตโดยล่าสุดทั้ง 2 สถาบันได้ลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมวิชาการต่างๆ อาทิ การอบรม การจัดสัมมนาทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร เป็นต้น

ทั้งนี้หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิตของ มธ. เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง ในการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติและจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่งเป็น 1 ใน 4 สถาบันการศึกษาการแพทย์แผนจีนระดับสูงที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2499 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ยุคใหม่ของประเทศจีน โดยผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนในประเทศมาแล้วกว่า 300,000 คน และชาวต่างชาติอีกมากกว่า 20,000 คน จาก 90 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศมากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยควีนส์ออฟเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

ดร.ภารดี แสงวัฒนกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากประสบการณ์เพื่อความอยู่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บของชาวจีน อันเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่ตกผลึกมานานเป็นระยะเวลาหลายพันปี ซึ่งปัจจุบันถือเป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างหลากหลาย โดยมุ่งเน้นการปรับระบบการทำงานต่างๆของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุลอย่างเป็นองค์รวม ด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์แผนจีน เช่น สมุนไพรจีน การฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว การนวดทุยหนา การกวาซา เป็นต้น

ดร.ภารดี กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ผู้เรียนจะได้ศึกษาในเชิงระบบ (System-Based) โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปรับสมดุลระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ อาทิ ระบบทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อและผิวหนัง ระบบประสาทและสมอง ฯลฯ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรวมถึงสามารถรักษาโรคต่างๆ โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลกมีผลงานวิจัยรับรองว่า การฝังเข็มสามารถใช้รักษาและฟื้นฟูโรค อาการ หรือภาวะได้กว่า 100 ชนิด อาทิภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเครียด โรคอ้วนอาการปวดศีรษะ โรคเก๊าท์ นอนไม่หลับ เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน สามารถประยุกต์ใช้ในการรักษาร่วมกับศาสตร์การแพทย์แขนงอื่น เช่น การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนไทย

หลักสูตรดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยในชั้นปีที่ 1, 3 และ 4 จะจัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ.ศูนย์รังสิต ส่วนในชั้นปีที่ 2, 5 และ 6 จะจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านภาษาจีนมาก่อน เนื่องจากทางหลักสูตรจะมีการสอนพื้นฐานภาษาจีนให้ในชั้นปีที่ 1 และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 ผู้เรียนจะได้ศึกษาภาษาจีนอย่างเต็มรูปแบบทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน รวมทั้งภาษาจีนโบราณ ภาษาจีนทางการแพทย์แผนจีน และประวัติศาสตร์การแพทย์แผนจีน ณ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญา 2 ใบ (Dual Degree) คือปริญญาการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง โดยบัณฑิตจะมีโอกาสในการสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนของทั้งประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย อาทิ แพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ประกอบธุรกิจทางด้านการแพทย์แผนจีน นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ปัจจุบันตลาดการแพทย์แผนจีนทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากเป็นศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีและเครื่องมือทางการแพทย์ราคาสูง ทำให้มีผู้สนใจเข้ารับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนเพียง 900 กว่าคนเท่านั้น ดังนั้นการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนที่มีคุณภาพออกสู่สังคมจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ อันจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนผู้ซึ่งเป็นกำลังในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าในลำดับต่อไป

ด้าน รศ.นพ.กัมมาล กุมารปาวา คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ยังได้พัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในหลักสูตรนานาชาติขึ้นอีก 2 สาขาดังนี้

· หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Longevity Medicine) เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ที่ต้องการสร้างความเชี่ยวชาญในการรักษาและจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ ในระดับบุคคล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยนักศึกษาสามารถเลือกแผนการเรียนได้ตามความต้องการ ทั้งแบบวิทยานิพนธ์ หรือ สารนิพนธ์ ร่วมกับการออกตรวจและฝึกปฏิบัติทางการแพทย์ ณ ศูนย์ Vital Life โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

· วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤฒาวิทยาสังคม (Social Gerontology) เป็นการประยุกต์สรรพวิทยาและองค์ความรู้จากแขนงวิชาชีพต่างๆ ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกสาขา - ทุกแขนงวิชา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในประเด็นผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีมาตรฐานของคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับคนในวัยอื่นๆ โดยนักศึกษาสามารถเลือกได้ทั้งการทำวิจัยหรือการวิทยานิพนธ์ ผ่านการฝึกปฏิบัติงานภาคสนามที่สอดคล้องกับประเด็นวิจัยของนักศึกษา

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 7605 หรือเข้าไปที่ www.cicm.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง