ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชู 3 ย่านสร้างสรรค์ของไทย ต้นแบบความสำเร็จเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

พุธ ๐๔ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๑:๓๗
· ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชี้ 3 ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จการพัฒนาย่านสร้างสรรค์

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิด 3 ตัวอย่าง "ย่านสร้างสรรค์" ต้นแบบของประเทศไทย ได้แก่ เจริญกรุง ตั้งเป้าให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบภายใน 5 ปี สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างๆ ให้มาสร้างธุรกิจใหม่ เชียงใหม่ มุ่งจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ให้เป็นเทศกาลประจำปีที่สร้างรายได้โดยตรงจากการท่องเที่ยว และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ผ่านการเชื่อมโยงชุมชนระหว่างนักลงทุน นักออกแบบ และผู้ผลิตในพื้นที่ และบางแสนตัวอย่างพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านการพัฒนาภาพรวมเมืองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี นำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาเพื่อให้ชื่อเสียงความเป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเผยถึง 3 ตัวแปรสำคัญที่ต้องอาศัยผู้นำที่ดีในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ได้แก่ มีความมุ่งมั่น มีการลงมือปฏิบัติ และมีความร่วมมือ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC) ได้จัดเสวนาหัวข้อ "Creative District" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานชุมนุมทางความคิดประจำปี (CU2016) มุ่งกระจายแนวคิดการผลักดันให้เกิดย่านสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดินหน้าพัฒนาไอเดียสร้างย่านสร้างสรรค์ผ่านองค์ความรู้การออกแบบบริการ (Service Design) อย่างต่อเนื่อง มุ่งกระจายแนวคิดการผลักดันให้เกิดย่านสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ โดยพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีย่านสร้างสรรค์ที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมหลายแห่ง โดยมี 3 แห่ง เป็นกรณีศึกษาที่ดี ได้แก่ เจริญกรุง บางแสน และเชียงใหม่ สำหรับกรณีศึกษาแรก "เจริญกรุง" เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณเจริญกรุง – บางรัก – คลองสาน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบภายใน 5 ปี สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างๆ ให้มาสร้างธุรกิจใหม่ และเป็นจุดศูนย์รวมของนักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ โดยการพัฒนานั้นเกิดจากความร่วมมือที่ระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดอะแจมแฟคทอรี่ (The Jam Factory) ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม (Icon Siam) รวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร และแกลอรี่ต่างๆมากมายภายในบริเวณดังกล่าว จนนำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิย่านสร้างสรรค์ (Creative District Foundation) ที่สามารถถือได้ว่าเป็นต้นแบบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุงกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นและจะเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปีหน้า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีศึกษาถัดมา คือ "เชียงใหม่" โดยการนำร่องพัฒนาส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์ ผ่านเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ "เชียงใหม่ดีไซน์วีค 2016" ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มุ่งสร้างพลังในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ภายในงานเทศกาลได้รวบรวมผู้ประกอบการและนักออกแบบในพื้นที่เพื่อจัดงานแสดงผลงานออกแบบ (Showcase) รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศด้วยงานจัดวาง (Installation) กิจกรรมเสวนา (Talk & Conference) เวิร์กช็อป (Workshop) ป็อปมาร์เก็ต (Pop Market) และอื่นๆ อีกมากมาย โดยคาดหวังให้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่สามารถสร้างรายได้ทางตรงที่เกิดจากการท่องเที่ยว สามารถสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เชื่อมโยงชุมชนระหว่างนักลงทุน นักออกแบบ และผู้ผลิตในพื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จด้านการพัฒนาต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์ และทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านศิลปวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย

และสุดท้ายคือ "บางแสน" แม้จะมีความแตกต่างจาก 2 กรณีที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นรวบรวมนักคิด นักออกแบบ และนักธุรกิจสร้างสรรค์ แต่กรณีบางแสนเป็นการการสร้างสรรค์เมือง ผ่านการจัดระเบียบชายหาดบางแสนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี นำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมา เพื่อให้ชื่อเสียงความเป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการดำเนินงานนั้นเริ่มต้นจากการประชุมหารือกับส่วนบริหารอำเภอเพื่อหาแนวทางร่วมกัน จากนั้นจึงนัดประชุมชาวบ้านในพื้นที่เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลที่จะได้รับหลังจากการร่วมมือกัน และเริ่มการจัดระเบียบชายหาดบางแสนทันที ด้วยการนำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมา 30 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่ 2.5 กิโลเมตรที่มีการกางเตียงและร่มให้บริการ โดยนอกจากการจัดระเบียบแล้วยังมีการลงมือปฏิบัติด้วยวิธีอื่นอีกมากมาย อาทิ การจัดงานวิ่งมาราธอน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวได้มาร่วมกิจกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ทางตรงให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้นักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของเมืองบางแสน นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ย่านสร้างสรรค์ (Creative District) คือ ชุมชน ย่าน หรือเมืองที่อุดมไปด้วยปัจจัยแวดล้อมในการกระตุ้นให้เกิดการสร้าง ซึ่งการสร้างในที่นี้หมายถึงการสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ทุกประเภท ไม่ใช่แค่เพียงงานศิลปะ เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ คือ การควบคุมความหนาแน่นของประชากรในเมือง ทำให้เกิดการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวกันอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง อันจะนำไปสู่โอกาสในการลดปัญหาน้ำท่วม และรถติด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของคนเมืองกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างจุดดึงดูดจุดใหม่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวให้กระจายตัวจากจุดศูนย์รวมเดิมๆ

โดยการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้สำเร็จไม่ได้ต้องการสถาปนิกที่ดี แต่ต้องการผู้นำที่ดีที่มี 3 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ 1. มีความมุ่งมั่น (Intention) ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ โดยการมีความมุ่งมั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ 2. มีการปฏิบัติ (Operation) โดยเริ่มต้นจากการมองเห็นความไปได้ในการพัฒนา และลงมือปฏิบัติด้วยการลงมือผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจความเป็นย่านสร้างสรรค์ในทิศทางเดียวกัน รวบรวมคนในพื้นที่ให้อยู่ในบทสนทนาเดียวกัน และทำให้มองเห็นประโยชน์ที่ชุมชนและตนเองจะได้รับเมื่อการสร้างย่านสร้างสรรค์สำเร็จ 3. มีความร่วมมือ (Collaboration) ผ่านการมองหาผู้ที่มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้ย่านสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นายดวงฤทธิ์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้จัดงานชุมนุมทางความคิดประจำปี ครั้งที่ 10 (CU2016) ภายใต้แนวคิด "EXIT: สู่ความจริงรูปแบบใหม่" โดยได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา "ย่านสร้างสรรค์" เสวนาในหัวข้อ Creative District มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบระดับแนวหน้าของประเทศไทย นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี นายอินทพันธุ์ บัวเขียว ผู้จัดการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ และได้รับเกียรติจากนายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง