PwC เผยความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ-รายได้ปีนี้ลด สวนทางซีอีโอโลก

พุธ ๒๕ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๗:๐๕
PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ปีนี้ลดลงจากปีก่อน สวนทางมุมมองซีอีโอโลก หลังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ-กระแสลัทธิคุ้มครองทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวในการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพราะเชื่อว่าจะมีผลกระทบกับองค์กรในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมมองแนวโน้มการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรหลังหลายอุตสาหกรรมจ่อเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ใน 10-20 ปีข้างหน้า

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ PwC's 20th Annual Global CEO Survey ครั้งที่ 20 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,379 คนใน 79 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 7 ประเทศ ว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้ลดลงจากปีก่อน สวนทางกับซีอีโอโลกที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยพบว่า มีซีอีโออาเซียนเพียง 28% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลก (Global economy) ปีนี้จะดีกว่าปีก่อน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 39% โดยถือเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับจากปี 2557 ขณะที่ซีอีโอโลก 29% เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีกว่าปีก่อน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 27%

ทั้งนี้ พบว่า 3 ปัจจัยหลักที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและนโยบาย (Economic and policy threats) ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ (83%) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (82%) และกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป (78%)

"ความเชื่อมั่นของซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนปีนี้ ถูกกดดันจากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชะลอตัวและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนที่เน้นไปที่การบริโภคและบริการมากขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกและอัตราผลผลิตที่ยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ ความกังวลจากกระแสลัทธิคุ้มครองทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลต่อการตัดสินใจทำธุรกิจของผู้บริหารในแถบนี้ด้วยเช่นกัน" นาย ศิระ กล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) ของซีอีโออาเซียนในปีนี้ยังลดลงอีกด้วย โดยมีผู้นำธุรกิจอาเซียน 32% เท่านั้นที่เชื่อว่า รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 38% โดยมองว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (Availability of skills) นั้นเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ต่อการเติบโตของธุรกิจ (Business threats) ที่ 88% ตามด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (82%) และ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (80%)

"การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคเอกชนในจีนและความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทในภูมิภาคนี้ในระยะข้างหน้า แต่จากประสบการณ์ของบรรดาธุรกิจอาเซียนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เราเชื่อว่า ภาคธุรกิจจะสามารถบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้" นาย ศิระ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้นำธุรกิจอาเซียนมองว่า 3 อันดับตลาดน่าลงทุนที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทของพวกเขาเติบโตได้ในปีนี้ ได้แก่ จีน (43%) รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา (28%) และอันดับที่สาม คือ อินโดนีเซีย (22%) ในขณะที่ 3 กลยุทธ์หลักที่จะช่วยผลักดันให้อัตราการทำกำไรของบริษัทเติบโตนั้น ได้แก่ แผนการเติบโตด้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท (Organic growth) ที่82% ตามมาด้วย แผนการลดต้นทุน (67%) และแผนการหาพันธมิตรหรือกิจการร่วมค้า (62%)

ธุรกิจอาเซียนตื่นตัวรับเทรนด์ดิจิทัล

นาย ศิระ กล่าวต่อว่า ผู้นำธุรกิจอาเซียนต่างตระหนักดีถึงการเข้ามาของดิจิทัลและการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจ โดยซีอีโออาเซียนที่ทำการสำรวจเห็นตรงกันว่า ดิจิทัลจะมีส่วนสำคัญมากในกำหนดเป้าหมายขององค์กรและจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม วัฒนธรรม และพฤติกรรมขององค์กร นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจอาเซียนเกือบ 60% ต่างระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เข้ามาพลิกโฉม หรือส่งผลกระทบต่อการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ 72% คาดว่า เทคโนโลยีจะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) จะเข้ามามีอิทธิพลกับการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยซีอีโอมากกว่าครึ่งระบุว่า ได้เริ่มทำการศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกลแล้ว ในขณะที่ซีอีโออีก 39% ก็กำลังพิจารณาผลกระทบจากการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ต่อทักษะของแรงงานที่ต้องการในอนาคต

ในทางกลับกัน ซีอีโอก็ต้องใช้พยายามมากขึ้นในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder's trust) หากต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ ซึ่ง 63% ของซีอีโออาเซียน (เปรียบเทียบกับ 55% ของซีอีโอโลก) ต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวและจริยธรรม ขณะที่ 52% ระบุว่า ยังคงต้องรับมือกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ และ 48% ประสบกับปัญหาระบบไอทีขัดข้องและอื่นๆ

เล็งจ้างงานเพิ่ม-เน้นแรงงานที่มีทักษะ

แม้ซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนจะมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่พวกเขากลับมีแผนจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยผู้นำธุรกิจอาเซียน 63% มีแผนที่จะเพิ่มการจ้างงานในปีนี้สูงกว่าปีก่อนที่ 59% และส่วนใหญ่ยังคงต้องการแรงงานที่มีทักษะ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งประเด็นดังกล่าว ถือเป็นความกังวลของผู้นำธุรกิจทั่วโลกด้วยเช่นกัน โดยความกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จาก 31% เมื่อปี 2541 เป็น 77% ในปีนี้

"เรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมภายใน 10-20 ปีข้างหน้า โดยกระแสนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศชั้นนำของโลก ดังนั้น ทักษะอะไรก็ตามที่เครื่องจักรกลไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เช่น ทักษะในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย" นาย ศิระ กล่าว

ทั้งนี้ ทักษะแรงงานที่หายากในสายตาที่ซีอีโอทั่วโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ ทักษะในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (77%) ทักษะในการเป็นผู้นำ (75%) ทักษะในการบริหารอารมณ์ (64%) ทักษะในการปรับตัว (61%) และสุดท้าย คือ ทักษะในการแก้ปัญหา (61%) ในขณะเดียวกัน ทักษะด้านดิจิทัลและสะเต็ม (STEM ประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)) ถือเป็นทักษะที่ท้าทายและจำเป็นที่ผู้นำองค์กรต้องมี

นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจอย่างแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้ว ตัวผู้บริหาร รวมทั้งพนักงาน ต้องปรับตัว ใช้ประโยชน์ และพัฒนาทักษะให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในส่วนของซีอีโอเอง นอกจากจะต้องมีความเป็นผู้นำแล้ว ยังต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ กล้าตัดสินใจในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างโดดเด่นในยุคดิจิทัล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๙ ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๑๗:๒๗ กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว