ยาหมดอายุ หรือยาเสื่อมคุณภาพ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ข้อมูลโดย : ภญ.ณัฐกร จริยภมรกุล เภสัชกรประจำ รพ.วิภาวดี

จันทร์ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๓:๔๓
ยามีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายแต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้าหากเราใช้ยาไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ ปัญหายาเสื่อมคุณภาพ มีคนจำนวนไม่น้อยมียาเก็บไว้ที่บ้านจำนวนมาก ทั้งยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ร้านยา หรือคลินิก แล้วรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็อาจนำยาที่เหลืออยู่มารับประทาน แต่ที่เสี่ยงอันตราย คือ ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ซึ่งหมายถึงยานั้นๆ หมดประสิทธิภาพในการรักษาไปแล้ว ถ้าเรารับประทานยาเสื่อมคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัวก็อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น อาจก่อให้เกิดโรคไตวาย ไตอักเสบ หรือทำให้เกิดการลุกลามของโรคต่างๆ ตลอดจนเกิดการดื้อยาขึ้น

การเสื่อมสภาพของยาอาจสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในตัวยา ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า วิธีที่จะช่วยตรวจสอบวิธีหนึ่ง คือ การสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากยา ดังนี้

1.ข้อมูลวันผลิต จะดูที่คำว่า "Manu. Date" หรือ "Mfg. Date" ซึ่งจะตามด้วยเลขวัน-เดือน-ปี ของวันผลิต

2.ข้อมูลวันหมดอายุ จะดูที่คำว่า "Expiry Date" หรือ "Exp. Date" หรือ "Exp." หรือ "Used before" หรือ "Expiring" หรือ "Used by" ซึ่งจะตามด้วยเลขวัน-เดือน-ปี ของวันหมดอายุ และในกรณีที่ระบุวันหมดอายุไว้เพียงเลขเดือน-ปี จะให้นับวันที่สุดท้ายของเดือนนั้นๆ เป็นวันหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp. 08/60 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 31 เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2560

ในกรณีที่พบยาบางชนิดระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ หลักเกณฑ์ทั่วไปจะกำหนดให้ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้สามารถเก็บไว้ได้ 3 ปี นับจากวันผลิต แต่หากยาน้ำถูกเปิดใช้แล้วและมีการเก็บรักษาที่ดีจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน ส่วนยาเม็ดสามารถเก็บไว้ได้ 5 ปี นับจากวันผลิต แต่หากยาเม็ดมีการแบ่งบรรจุใส่ในถุงซิป วันหมดอายุของยาจะนับจากวันแบ่งบรรจุออกไป 1 ปี โดยไม่เกินวันหมดอายุจริงที่ระบุบนฉลากยา นอกจากนี้การตรวจสอบยาหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพอีกวิธีหนึ่ง สามารถสังเกตได้จากลักษณะต่างๆ ของยา ดังนี้

1.ยาเม็ดแคปซูล ที่มีลักษณะแคปซูลบวมโป่ง ผงยาภายในแคปซูลมีการเปลี่ยนสีหรือเกิดการจับกันเป็นก้อน เปลือกแคปซูลอาจมีเชื้อราขึ้นหรือมีสีเปลี่ยนไป เช่น เตตราไซคลีน Tetracycline ที่มีผงยาเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล แนะนำให้ทิ้งทันที เพราะหากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อไตได้

2.ยาเม็ด ที่มีสีเปลี่ยนไป มีจุดด่างหรือเชื้อราขึ้น เม็ดยาแตกกร่อนเป็นผงง่าย เม็ดยานิ่มและแตกได้เมื่อใช้มือบีบเบาๆ นอกจากนี้แล้วยาเม็ดที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิตที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา (สี กลิ่น รส) เปลี่ยนแปลงไป เป็นการบ่งบอกถึงความไม่คงตัวของยา ก็ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป

3.ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบน้ำตาล ซึ่งมีลักษณะมันเงา (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียวมีกลิ่นหืน หรือบูด

4.ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งน้ำใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมก็จะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่ายังไงก็ไม่กระจายตัว ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม

5.ยาผงแห้งผสมน้ำ หากยาเสื่อมสภาพ ผงยาจะจับตัวเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติไม่สามารถละลายได้ และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำ แสดงว่ายานั้นไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ ยาผงแห้งหลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก บางชนิดสามารถเก็บไว้ได้หลังจากที่ผสมน้ำแล้ว บางชนิดผสมน้ำแล้วต้องแช่เย็น เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยทั่วไปหลังผสมถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง เก็บได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็น เก็บได้ 14 วัน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ทันทีไม่สามารถเก็บไว้ได้

6.ยาน้ำเชื่อม ที่มีลักษณะเป็นสีขุ่น ตกตะกอน เห็นเป็นผง ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นน้ำที่มีสีแตกต่างกัน ลอยปะปนเป็นเส้น และอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว

7.ยาขี้ผึ้ง จะเกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา มีความข้นหนืดเปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน

8.ยาครีม ถ้าเสื่อมก็จะพบการหดตัวของเนื้อครีม เนื่องจากเกิดการระเหยของน้ำ ทำให้เนื้อยาแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม

9.ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ เนื่องจากสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ใส่ไปมีประสิทธิภาพดีในช่วง 1 เดือน หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน ยาหยอดตาที่เสื่อมสภาพจะมีลักษณะขุ่นหรือตกตะกอนของตัวยา หรือเปลี่ยนสีไปจากเดิมที่เคยใช้

10.ยาบางอย่างที่ต้องเก็บในตู้เย็น มียาบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อกันการเสื่อม เช่น วัคซีน ยาหยอดตา หรือยาหยอดหูบางชนิด

11.ยาที่แบ่งใส่ซองยามาให้ บางโรงพยาบาล คลินิกหรือร้านยา อาจมีวันหมดอายุติดมากับซองยา แต่บางโรงพยาบาล คลินิก หรือร้านยาจะไม่ได้ระบุไว้ในซองยา ดังนั้นยาที่แบ่งมาส่วนใหญ่จึงไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ปี

ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กำหนดได้หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บไม่เหมาะสม ยาอาจเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ยาใดๆจึงควรดูวันหมดอายุ ร่วมกับการสังเกตสภาพยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะถ้ายาเสื่อมคุณภาพไป นอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าหากไม่แน่ใจควรทิ้งไป และเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๘ Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง