ผลสำรวจแกรนท์ ธอนตัน เผยอัตราส่วนผู้บริหารหญิงในไทยยังคงติดสามอันดับแรกของเอเชียแปซิฟิก

ศุกร์ ๑๐ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๕๓
เนื่องในวันสตรีสากลโลก ผลสำรวจธุรกิจประจำปีฉบับใหม่ของแกรนท์ ธอนตัน จากธุรกิจกว่า 5,500 ราย ใน 36 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ เผยถึงสัดส่วนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ได้เพิ่มจำนวนขึ้นจากร้อยละ 23 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2560 โดยแรงขับเคลื่อนหลักในครั้งนี้ มาจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสัดส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปีก่อน มาเป็นร้อยละ 29 ในปีนี้ ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงที่อยู่ที่ร้อยละ 13 อย่างไรก็ตามสัดส่วนของธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในฐานะผู้บริหารระดับสูงเลยทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2560 อีกด้วย

ในประเทศไทยสัดส่วนของผู้บริหารหญิงในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 31 และถือเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรองจากอินโดนีเซีย (ร้อยละ 46) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 40) ตามลำดับ โดยในปีนี้ผลสำรวจยังพบว่ามีธุรกิจถึงร้อยละ 25 ในประเทศไทยที่ไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเลย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี 2559 ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO (ร้อยละ 40) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินหรือ CFO (ร้อยละ34) เป็นตำแหน่งงานที่มีสัดส่วนผู้หญิงดำรงตำแหน่งมากที่สุดในผลสำรวจของประเทศไทย ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกพบธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวมีสัดส่วนผู้หญิงในผู้บริหารระดับสูงที่สุดถึงร้อยละ 37

โนเอล แอชโพล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชีของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทยกล่าวว่า "ในปีนี้ตัวเลขสัดส่วนของผู้หญิงในฐานะผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังต้องการความคืบหน้าที่มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในทีมผู้บริหารระดับสูงนั้นเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง และนักธุรกิจเหล่านั้นจำเป็นต้องตระหนักและหันกลับมามองถึงศักยภาพของผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกใช้ในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่"

"สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเราจะยังอยู่ในสามอันดับแรกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิกเอง แต่อาจมีแนวโน้มที่กำลังจะลดลง หากเราไม่พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้หญิงในโลกธุรกิจ เราอาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบเดียวกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงแค่เพียงร้อยละ13 การสร้างความสมดุลระหว่างบทบาทการเป็นแม่ที่ดีและการประสบความสำเร็จในอาชีพยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้หญิงไทย สำหรับผู้หญิงไทยส่วนใหญ่แล้วแม้ครอบครัวมักเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเสมอ แต่ในบางครั้งเราก็จำเป็นต้องเลือกระหว่างการให้เวลากับครอบครัวหรือมีการมีหน้าที่การงานที่ประสบความสำเร็จ เพียงเพราะขาดกระบวนการสนับสนุนที่เพียงพอ"

นอกจากนี้ ผลการสำรวจทั่วโลกของแกรนท์ ธอนตัน ได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนายังคงเป็นผู้นำในเรื่องของความหลากหลาย (Diversity) มากกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว โดยในปีนี้ ยุโรปตะวันออกมีสัดส่วนผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารมากที่สุดถึงร้อยละ 38 และสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในทีมผู้บริหารระดับสูงเลยมีเพียงแค่ร้อยละ 9 เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มประเทศ MINT (เม็กซิโก อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และตุรกี) มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากที่สุด โดยมีสัดส่วนผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2560 และสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในทีมผู้บริหารระดับสูงนั้น ลดลงจากร้อยละ 36 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 27 ในปี 2560

สิ่งนี้แสดงถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศเศรษฐกิจหลักในกลุ่มเศรษฐกิจ G7 ซึ่งมีสัดส่วนผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารคงที่อยู่ที่ร้อยละ 22 และสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในทีมผู้บริหารระดับสูงที่ร้อยละ 39 ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในอันดับรั้งท้ายของผลสำรวจเพราะมีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงเพียงร้อยละ 13 และสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารสูงถึงร้อยละ 54 ถือเป็นภูมิภาคที่มีผลสำรวจแย่ที่สุดอีกด้วย

โนเอล กล่าวเสริมว่า "ผลสำรวจจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักนั้นอาจดูแล้วทำให้ท้อใจ สาเหตุของความไม่คืบหน้าในเรื่องดังกล่าวนั้นมันมีมากมายและแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมทางธุรกิจของแต่ละองค์กร ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมของประเทศหรือภูมิภาคที่พวกเขาอยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เรารู้สึกว่าปัญหาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แม้บริษัทอาจมองว่าความท้าทายเกี่ยวกับปัญหาด้านความหลากหลายนั้นได้รับการจัดการแล้ว แต่หลักฐานที่บอกเรามันไม่เป็นเช่นนั้น"

"หลายบริษัทในวันนี้จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิผล นวัตกรรม และพร้อมเปิดกว้างมากขึ้นหากพวกเขาต้องการที่จะเติบโต ความหลากหลายถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของพวกเขา องค์กรที่ไม่เปิดรับในเรื่องดังกล่าวอาจพาตัวเองไปสู่ความเสี่ยงในการปิดกั้นศักยภาพของตน และสูญเสียการเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลายอีกด้วย"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน