ยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์ญี่ปุ่นขยายฐานในไทย ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ขยายลงทุนเสริมฐานส่งออกในไทยให้แข็งแกร่ง

พฤหัส ๒๐ เมษายน ๒๐๑๗ ๑๒:๓๐
บีโอไอเผยบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่จากญี่ปุ่นทุ่มลงทุนปั้นไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เน้นลงทุนการผลิตสารซิลิโคนส์ชนิดพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องสำอาง ชูคุณสมบัติพิเศษ ปรับคุณภาพผ้า เครื่องสำอางกันน้ำติดผิวได้นาน พร้อมร่วมมือ สวทน.-สถาบันการศึกษา เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรในประเทศไทย

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ซิลิโคนส์ชนิดพิเศษซึ่งจัดเป็นเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemical) ของบริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นการขยายลงทุนครั้งที่ 3 ของบริษัทหลังจากมีการลงทุนในประเทศไทยมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 และจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษสำหรับการส่งออกใหญ่ที่สุดของบริษัท

ตามโครงการเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ซิลิโคนส์ชนิดพิเศษจำนวน 2 ชนิด โดยซิลิโคนส์เหลวชนิดแรก เป็นชนิดที่ปรับปรุงด้วยกลุ่มอะมิโนจะใช้งานเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่มีคุณสมบัติพิเศษทำให้เส้นใยมีความนุ่มได้นานขึ้น ลดรอยยับบนผ้าหลังผ่านกระบวนการซัก และช่วยป้องกันไม่ให้ผ้าเหลือง และซิลิโคนส์เหลวชนิดที่สอง เป็นชนิดที่ปรับปรุงด้วยพอลิอีเทอร์ จะใช้งานเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตเครื่องสำอาง โดยเป็นชนิดที่หายาก มีประสิทธิภาพที่ทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ดี มีคุณสมบัติให้ความรู้สึก นุ่ม ลื่น กันน้ำ และสามารถติดอยู่บนผิวได้นาน รวมถึงป้องกันแยกชั้นของเครื่องสำอาง เช่น ครีมรองพื้น ครีมกันแดด โลชั่นทาผิว

"บริษัทขยายการลงทุนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตซิลิโคนส์ชนิดพิเศษ ทั้ง 2 ชนิดครั้งนี้มีปริมาณรวมกันกว่า 9,000 ตันต่อปี เงินลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีขนาดใหญ่กว่าการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเกิดการจ้างงาน และใช้วัตถุดิบเคมีภัณฑ์จากในประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 352 ล้านบาทต่อปี" นางหิรัญญา กล่าว

นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือ กับสถาบันการศึกษาในโครงการสหกิจศึกษา (Work Integrated Learning :WiL) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากสามภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา ตามโครงการจะสนับสนุนการผลิตกำลังคนระดับ ปวส. และระดับปริญญาโท ที่มีคุณภาพป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของจัดการศึกษาและการเรียนรู้การทำงานในสถานประกอบการ ทั้งในส่วนของการผลิตและการวิจัยและพัฒนา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง เข้าร่วมโครงการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน