กระทรวงเกษตรฯจับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน

พุธ ๑๙ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๐๐
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน ว่า ที่ประชุมเพื่อติดตามตามการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า ได้เลือกจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดนำร่อง สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน ซึ่งได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องมา 5 ครั้ง มีการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดน่านและวางกรอบการดำเนินงานร่วมกันทั้ง 4 กระทรวง

ทั้งนี้ จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 6.058 ล้านไร่ ในพื้นที่ป่านี้เป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ประมาณ 4.394 ล้านไร่ เป็นที่ป่าที่ถูกบุกรุกไปแล้วประมาณ 1.6 ล้านไร่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้รวมถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 943,000 กว่าไร่ โดยมีเป้าหมายลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกป่า ด้วยการดำเนินการใน 2 พื้นที่ ที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่แรก คือ พื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีพื้นที่บุกรุกรวมประมาณ 228,000 ไร่ ส่วนอีกพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์จะมีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการโดยการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าไม้เพื่อไม่ให้มีการขยายการบุกรุกเพิ่มเติม และนำพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้มาทำการฟื้นฟูปลูกป่าในพื้นที่นั้นโดยร่วมมือกับชาวบ้าน พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

โดยขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถหยุดการทำลายป่าและลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 11,990 ไร่ ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ,2 มีขั้นตอนการแก้ไขปัญหา 7 กิจกรรม เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้คืนโดยการปลูกไม้ป่าท้องถิ่น และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายชุมชนและประชุมชี้แจงสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านโดยสามารถลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 18,860 ไร่ และ 2. พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3,4, 5 ซึ่งมีขั้นตอนการแก้ไขปัญหาในแนวทางเดียวกัน แต่เพิ่มการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชนด้วย โดยสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 3,250 ไร่ รวมพื้นที่ลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ได้ประมาณ 22,110 ไร่ และรวมพื้นที่ลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้ประมาณ 34,100 ไร่ โดยได้มีการเข้าไปฟื้นฟูผืนป่า และดำเนินโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร

"ในภาพรวมของการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ สามารถลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งก่อนปี 2557 จะลดพื้นที่บุกรุกประมาณ 70,000 ไร่ต่อปี ขณะนี้ลดเหลือประมาณไม่ถึง 1,000 ไร่ต่อปี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพราะเป็นปัญหาที่สะสมมากนาน โดยขณะนี้สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้ประมาณ 34,100 ไร่ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำโครงการพระราชดำริเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรอีกกว่า 9,000 ไร่ รวมพื้นที่ที่สามารถลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขาหัวโล้นได้ประมาณ 40,000 กว่าไร่ ซึ่งได้วางแผนการดำเนินการไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อฟื้นฟูผืนป่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ทั้งนี้ จะมีการขยายผลในทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน หากประสบความสำเร็จก็จะนำโมเดลความร่วมมือทั้ง 4 กระทรวง ไปขยายผลการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกอื่นๆต่อไป" นายธีรภัทร กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง