STC ขอน้อมนำศาสตร์พระราชา “พลังงานทดแทน” พัฒนารถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 แข่งขันเวทีระดับโลก

จันทร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๐๙:๑๕
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) น้อมนำศาสตร์พระราชา เรื่องการใช้พลังงานทดแทนแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนในอนาคต จึงได้ออกแบบและสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 เพื่อส่งเสริมการลดใช้น้ำมัน และเข้าร่วมการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยดังจากทั่วโลกและในการแข่งขันรายการ World Solar Challenge 2017 โดยมั่นใจว่าทั่วโลกจะได้เห็นถึงศักยภาพเยาวชนและอาจารย์ชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในเรื่องสถานการณ์ของน้ำมันในโลกซึ่งเป็นทรัพยากรที่นับวันจะค่อยๆ หมดไปและอาจเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนขึ้นได้ในอนาคต ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานทดแทนซึ่งจะเข้ามามีบทบาทแทนน้ำมันได้ในอนาคต ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่า

"...ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่ เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด... ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อน..."

อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามขอน้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชดำรัสไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 จึงมีนโยบายให้อาจารย์และนักศึกษาคณะเทคโนโลยีคิดค้นและพัฒนารถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นภายใต้ชื่อรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนทำให้ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลภาวะได้อีกด้วย"

นอกจากการผลิตรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อน้อมนำพระศาสตร์พระราชแล้ว วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามยังมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันรายการ World Solar Challenge เป็นเวทีการแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

"เมื่อ 2 ปีก่อนเราได้ส่งรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เข้าร่วมการแข่งขัน และปีนี้เราได้ส่งรถ STC-2 เข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง เราไม่ได้มองว่าการเข้าแข่งขันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับเรา แต่เรามองว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะตัวแทนคนไทยที่ได้เข้าร่วมแข่งขัน" อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช กล่าว

การเดินทาง 3,022 กิโลเมตรด้วยรถยนต์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนักศึกษาและอาจารย์คณะเทคโนโลยีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นอย่างมาก ในการเข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 การแข่งขันดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี โดยจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ณ ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นการแข่งขันที่มีเส้นทางทรหดเส้นทางหนึ่งของโลก โดยใช้ได้เพียงแค่พลังงานจากแสงอาทิตย์เท่านั้น

3,022 กิโลเมตรตั้งแต่เมืองดาร์วิน (Darwin) ทางเหนือสุดของออสเตรเลียสู่เมืองอะดิเลด (Adelaide) ทางใต้สุดของประเทศ ต้องผ่านเส้นทางที่มีชื่อว่า Stuart highway ซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในอดีตเส้นทางนี้มีผู้บุกเบิกเส้นทางคือ John McDouall Stuart ชาวออสเตรเลีย John เป็นคนแรกที่สามารถเดินทางจากทิศใต้สู่ทิศเหนือและกลับมายังจุดเริ่มต้นได้สำเร็จตลอดการเดินทางมีผู้ร่วมทริปต้องสังเวยชีวิตไปกับการเดินทางอันเนื่องจากความร้อนและความแห้งแล้ง

เส้นทางการแข่งขันที่ท้าทายเช่นนี้ทำให้การแข่งขัน World Solar Challenge 2017 เป็นการรวมตัวกันของผู้กล้า นักผจญภัย และนักนวัตกรรมสายเลือดใหม่จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อมาแข่งขันชิงความเป็นที่หนึ่งหรือสุดยอดทางด้านรถพลังงานแสงอาทิตย์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ปีนี้เป็นสมัยที่สองที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามได้เข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาคม 2560 โดยได้ส่งรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 นิโคล่า (STC-2 Nikola) แข่งขันในรุ่น Cruiser โดยรุ่นนี้จะเน้นในเรื่องของการออกแบบรถให้สามารถใช้งานได้จริงตามท้องถนน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 1 คน

"การที่เราเลือกเข้าร่วมแข่งขัน World Solar Challenge เพราะเรามองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเป็นการเรียนรู้ผ่านการแข่งขันระดับโลก และยังใช้ศักยภาพทุกด้านของผู้เข้าแข่งขันเพื่อก้าวไปยังจุดหมายที่วางเอาไว้ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหรือกติกาต่างๆ ในระยะเวลาที่กำหนด และยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยของเรามีฝีมือ มีทักษะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจนสามารถเข้าไปร่วมในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าชาติใด พวกเราทุกคนมีความภูมิใจที่ได้มีโอกาสโบกธงชาติไทยเหนือเส้นชัยบนแผ่นดินเมืองเอดิเลต ประเทศออสเตรเลีย แม้การเดินทางของเราจะไม่ราบรื่นสมบูรณ์แบบมากนักแต่พวกเราเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เดินตามความฝันจนสำเร็จ" อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช กล่าว

นอกจากนี้ การเดินทางตั้งแต่เหนือจรดใต้ตลอด 8 วันที่ออสเตรเลีย ยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากภายนอกห้องเรียนให้กับเยาวชนไทยเปรียบเสมือนการขัดเกลาและเจียระไนเพชรเม็ดใหม่ให้เกิดขึ้นจากเยาวชนที่ไม่ประสีประสาถูกเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่มีความรับผิดชอบกล้าคิดกล้าทำและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับประเทศไทย

จากการเข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกที่ขาดทั้งประสบการณ์และความรู้วันนี้ทีมงานได้นำประสบการณ์ในการเข้าร่วมแข่งขันครั้งนั้นมาพัฒนา STC-2 ให้มีสมรรถนะในการขับขี่ และมีรูปลักษณ์ที่สวยงามมากขึ้นทำให้รถ STC-2 มีความแตกต่างและเหนือด้วยคุณภาพมากกว่าครั้งก่อน

"รถ STC-1 เกิดจากความรู้ที่เราศึกษากันเองผ่านอินเทอร์เน็ตทีมงานของเราลองผิดลองถูกจากการผลิตรถ STC-1 แม้ครั้งนั้นจะไม่ได้รับรางวัลอะไรเลยจากการแข่งขันแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความชำนาญและการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ปีนี้เรายังคงต้องเจอกับทีมมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีความชำนาญในการแข่งขันหรือมีงบสนับสนุนที่มากกว่าแต่เชื่อมั่นว่าประสบการณ์ครั้งก่อนจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น" อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช กล่าว

ใครจะเชื่อว่าผู้แพ้อย่างรถ STC-1 กลับโดดเด่นในสายตาผู้ชนะแม้รถ STC-1 จะไม่ชนะการแข่งขันและไม่ได้รับรางวัลอะไรแต่กลายเป็นรถที่ได้รับการยอมรับและความสนใจจากผู้ร่วมแข่งขันจากทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง การสร้างรถยนต์ด้วยมือโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักขนาดใหญ่ทำให้ผู้ร่วมแข่งขันจากทั่วโลกรู้สึกทึ่งในฝีมือเยาวชนและอาจารย์ชาวไทย งบประมาณที่ใช้ถูกกว่าผู้ร่วมแข่งขันหลายสิบเท่าตัวเพราะสร้างด้วยงบประมาณ 350,000 บาท ขณะที่ของผู้ร่วมแข่งขันราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8 ล้านบาท และมากที่สุด 40 ล้านบาททำให้ผู้ร่วมแข่งขันให้ความสนใจในรถ STC-1 เป็นอย่างมาก

สำหรับความท้าทายของการนำรถ STC-2 เข้าแข่งขันครั้งนี้ คือ การนำความคิดและผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ชาวไทยไปอวดโฉมอยู่บนเวทีระดับโลก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมาก็ตามแต่สิ่งที่นักศึกษาและอาจารย์คณะเทคโนโลยีได้จากการเข้าร่วมแข่งขันคือการได้พัฒนาคุณภาพของตนเองให้เทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยระดับโลก และนี่คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ท้าทายที่สุดและเป็น Learning by Doing ซึ่งสอดรับกับแนวทางการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามนั้นคือการเน้นการเรียนการสอนให้ลงมือปฏิบัติและสามารถแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว