“พลังงาน” ชี้แจงกรณีไทยซื้อถ่านหินสหรัฐฯไม่ขัดต่อปฏิญญาปารีส

จันทร์ ๐๙ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๓๗
โฆษกกระทรวงพลังงานชี้แจงกรณีไทยซื้อถ่านหินจากประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้ขัดแย้งต่อปฏิญญาปารีสว่าด้วยการลดโลกร้อน เพราะไทยให้ความสำคัญกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้วตามแผน PDP 2015 และการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันยังมีความจำเป็นสำหรับโรงไฟฟ้าฐานเพื่อความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทบทวนการซื้อถ่านหินจากประเทศสหรัฐฯ เพราะถ่านหินเป็นวัตถุดิบพลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาวะโลกร้อน และการที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เอกชนซื้อถ่านหิน สะท้อนถึงการดำเนินนโยบายที่ขัดต่อปฏิญญาปารีสว่าด้วยการป้องกันปัญหาโลกร้อนนั้น กระทรวงพลังงานขอชี้แจงงว่า การดำเนินการดังกล่าวของเอกชนสามารถดำเนินการได้ตามกลไกทางธุรกิจที่จะเลือกใช้เชื้อเพลิงจากประเทศใดก็ได้ ซึ่งเดิมเอกชนมีการนำเข้าอยู่แล้ว และประเด็นนี้ก็ไม่ขัดต่อข้อผูกพันของไทยในปฏิญญาปารีสว่าด้วยการลดโลกร้อนด้วย เพราะในส่วนของแผนงานของรัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP 2015) ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอยู่มากแล้ว โดย PDP 2015 มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า 37% จาก 0.560 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ในปี 2556 จะเหลือ 0.319 กิโลกรัมต่อหน่วยในปี 2579 จากการดำเนินงานทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ซึ่งตามแผน PDP 2015 ต้องมีโรงไฟฟ้าหลักซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าฐาน โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังน้ำ แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล เป็นพลังงานเสริม ซึ่งมุ่งเน้นการกระจายการเชื้อเพลิงอย่างสมดุลและรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

สำหรับประเด็นการนำเข้าถ่านหินทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 – 2560 สัดส่วนการจัดหาถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการที่ราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำไม่แพง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น โดยในปี 2560 ช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.) มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 57%ของการใช้ในประเทศทั้งหมดคือ การผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ส่วนการผลิตในประเทศมีประมาณ 43% ซึ่งตั้งแต่ปี 2555 – 2560 การใช้ถ่านหินนำเข้าเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2560 อยู่ที่ระดับ 11,054 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.1%

"ดังนั้น การวางแผนด้านพลังงานของไทยจึงสอดคล้องกับกระแสโลกในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าและมาตรการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตามที่นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าวอ้างแต่อย่างใด" โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๘ Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง