สืบสานศาสตร์พระราชา ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

อังคาร ๓๑ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๑๘
"หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้" พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529

ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการก่อเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริ 4,685 โครงการ โดยมีที่มาจากการที่ทรงเห็นความเดือดร้อนของพสกนิกร นำไปสู่แนวทางพระราชดำริในการแก้ปัญหา เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะทรงเห็นว่า "น้ำคือชีวิต" งานพระราชกรณียกิจส่วนใหญ่กว่า 70% จึงเป็นงานด้านการชลประทาน ผลจากการทรงงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงวันนี้จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการ

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย สกว.กล่าวว่า จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งในโครงการดังกล่าวมีโครงการน้ำและโครงการเพื่อการเกษตรเป็นโครงการหลักที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชดำริในการวางแนวทางชลประทาน ทั้งการสร้างแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วม มีทั้งโครงการขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ โครงการอ่างเก็บน้ำ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , โครงการชลประทานมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานแนวคิดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอีกหลายโครงการ , โครงการแก้มลิง , โครงการฝนหลวง อีกทั้งยังได้ทรงวางแนวทางแก้ไขปลายทางน้ำด้วยซึ่งเป็นที่มาของ "คลองลัดโพธิ์" รวมถึงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพ และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำและชลประทานที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาประเทศ

" จากการทรงงานของพระองค์ทำให้ได้เรียนรู้และประจักษ์ชัดว่า พระองค์ทรงเป็นผู้รู้จริง จะเห็นว่าทรงใช้เวลาในการศึกษาเรื่องนั้นๆจนรู้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทรงมีความอดทนมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบที่เป็นวิชาการหรือการวิจัย ทรงลงมือทดลองทำจนเห็นผลแล้วจึงค่อยขยายผล ทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนทรงรับสั่งถามชาวบ้านถึงปัญหาด้วยพระองค์เองทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ และนำมาเป็นแนวทางใช้ประกอบการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า " เนื่องจากแนวทางที่พระราชทานนั้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการใช้ความเป็นระบบมีหลายศาสตร์วิชาเข้ามาร่วม และนำไปสู่การพัฒนาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงในที่สุด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากแนวความคิดของพระองค์ ผ่านการศึกษา ทดลอง ถ่ายทอดและขยายผล คือแนวทางดำเนินการที่เรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" ในฐานะนักวิชาการจะนำแนวทางการทรงงานมาเป็นแบบอย่างและน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยพัฒนาโครงการต่างๆ ในด้านการจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความเชื่อมโยงทั้งในมิติจากบนสู่ล่างและจากล่างขึ้นบนตามรอยพระองค์ท่านต่อไป"

จากพระราชกรณียกิจต่างๆ จะเห็นว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงบูรณาการแนวทางการทรงงานทั้งในระดับส่วนกลางและชุมชนให้ดีขึ้น และพัฒนาจนมาเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นปรัชญาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยให้ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท รวมถึงเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน

รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า " แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่แนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงอยู่ เมื่อประชาคมโลกยอมรับแล้วว่าการพัฒนาจากนี้ไปจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นแนวทางการพัฒนาประเทศของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่บนฐานของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy Philosophy - SEP) มาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ภายในปี ค.ศ.2030 ทั้งนี้เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง