ถอดรหัส SLC แดนปลาดิบ ผ่าน 2 กูรูด้านการศึกษา เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยสู่ “โรงเรียนชุมชนแห่งการเรียนรู้” เต็มรูปแบบ

อังคาร ๒๓ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๐:๓๘
การสร้างโรงเรียนให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ School as Learning Community (SLC) เป็นเรื่องที่บุคลากรในแวดวงการศึกษานานาชาติกล่าวถึงและมุ่งแสวงหาวิธีมาตลอด ด้วยมุ่งหวังที่จะปฏิรูปโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA ในฐานะบริษัทที่ตระหนักว่า การศึกษา คือรากฐานของการสร้างสังคมในอนาคต จึงได้ร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum) นำโดย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ และกลุ่มความร่วมมือด้านการศึกษาแห่งประเทศไทย (Thailand Education Partnership) ซึ่งเป็นคณาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีการประชุมวิชาการแนวคิด "โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้" หรือ SLC Symposium โดยได้เชิญ 2 กูรูด้าน SLC จากญี่ปุ่น 2 ท่าน ได้แก่ อ.มาซาอากิ ซาโต และ ดร.เอสุเกะ ไซโต มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษาที่หลากหลายทฤษฎีในปัจจุบัน บริษัทได้นำเสนอแนวคิดบนฐานความเชื่อของการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีทักษะพื้นฐานที่แข็งแรงหรือไม่แข็งแรง ก็ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ตนมีอย่างเต็มที่ แนวคิด SLC จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งวิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรม โดยเริ่มปฏิรูปโรงเรียนจากภายใน ให้เด็ก ครู และผู้ปกครอง ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมืออาชีพ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนและห้องเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมของเด็กๆ และทำให้เด็กๆ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

เหตุที่บริษัทเลือกแนวคิด SLC มาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาไทย เพราะแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มองระดับมหภาค ใช้วิธีสร้างวิสัยทัศน์ร่วมให้ทุกคนเห็นภาพใหญ่ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ อย่างห้องเรียนและโรงเรียน แล้วสร้างให้โรงเรียนเป็นสถานที่สาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนั้น ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและบ่มเพาะประชาธิปไตย มีวิธีการแยบยลในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เน้นกระจายอำนาจ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับเด็ก ครู ครูใหญ่ และผู้ปกครองทุกคน

อ.มาซาอากิ ซาโต หนึ่งในวิทยากรที่และเป็นผู้มีบทบาทในการปฏิรูปโรงเรียนทั้งในญี่ปุ่นและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้อยู่ภายใต้แนวคิด SLC บอกเล่าว่า เดิมทีการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว กล่าวคือ ครู ก็จะมีหน้าที่สอนและจดบนกระดาน ขณะที่นักเรียนก็จะฟังและจดตามเท่านั้น ซึ่งปฏิกริยาที่ตอบสนองกลับมาคือนักเรียนมีอาการเบื่อ เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นำมาซึ่งความไม่เข้าใจในวิชานั้นๆ ดังนั้นครูต้องมีการสังเกตและแสวงหาวิธีแก้ปัญหา โดยเพิ่มการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปโรงเรียนไม่ใช่แค่คิดจะทำอะไรก็ทำ แต่จำเป็นต้องมีหลักการ แนวคิด และองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ โรงเรียน ครูใหญ่ และครูผู้สอน ต้องแชร์แนวคิดและปรัชญาการศึกษาร่วมกัน เพราะผู้ปกครองและคนในชุมชนล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนขึ้นมาด้วย ในห้องเรียนจะต้องไม่มีนักเรียนคนไหนโดดเดี่ยวและจะต้องไม่มีใครถูกทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

"ระบบการศึกษา SLC ในญี่ปุ่น ไม่ได้มาจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานภาครัฐ แต่เกิดจากการผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาของครู คาดว่าในปี 2020 ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่นจะนำระบบ SLC ไปใช้" อ.มาซาอากิ กล่าว

ด้าน ดร.เอสุเกะ ไซโต อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย ผู้มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและปฏิบัติการด้านการศึกษาผ่านบทเรียน (Lesson Study) ตลอดจนสร้างโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) มากกว่า 15 ปี กล่าวว่า จากที่ได้เยี่ยมชมการเรียนการสอนในโรงเรียนไทย และเก็บภาพบรรยากาศระหว่างการสังเกตชั้นเรียนวิชาเย็บปักถักร้อยมีเหตุการณ์ซึ่งสร้างความประทับใจเกิดขึ้น โดยได้เล่าให้เหล่าครูผู้เข้าร่วม SLC Symposium ได้เรียนรู้ร่วมกัน

ขณะที่เยี่ยมชมการเรียนการสอนอยู่นั้น พบว่ามีนักเรียนคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่ข้างกัน นักเรียนผู้หญิงไม่สามารถเย็บผ้าตามโจทย์ที่อาจารย์สั่งได้ ขณะที่นักเรียนชายซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ มีความสามารถในการทำสิ่งนี้มากกว่า นักเรียนผู้หญิงได้เอ่ยปากขอให้นักเรียนชายช่วยเหลือเธอ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของผู้ออกปากขอความช่วยเหลือ และยิ่งสวยงามมากขึ้น เมื่อนักเรียนชายแสดงออกต่อผู้ขอความช่วยเหลือในทำนองที่ว่า ไม่ต้องเป็นกังวล ฉันจะคอยช่วยเหลือเธออยู่ตรงนี้

"การที่เด็กไม่เข้าใจบทเรียนและกล้าที่จะออกปากของความช่วยเหลือเพื่อน เป็นเหมือนก้าวเล็กๆ ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า นักเรียนตระหนักถึงสิทธิในการเรียนรู้ของตนซึ่งเป็นคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งยังมีความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนในการเป็นคู่หูร่วมเรียนรู้กัน ซึ่งนั่นคือการศึกษาแบบ SLC นักเรียนที่เก่งกว่าต้องช่วยเหลือนักเรียนที่อ่อนกว่า เพราะหนึ่งในหลัก SLC คือ เด็กทุกคนต้องได้รับทั้งคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ในห้องเรียนครูจะต้องใส่ใจการเรียนรู้ของเด็กทุกคน โดยไม่ยอมทิ้งใครไว้เบื้องหลัง" ดร.เอสุเกะ กล่าว

นอกจากการมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่านยังได้รวบรวมแนวคิด School as Learning Community ทั้งหมดถ่ายทอดผ่านหนังสือ เรียนรู้จากข้อเท็จจริงของเด็กและห้องเรียน: การปฏิรูปโรงเรียนด้วย 'ชุมชนแห่งการเรียนรู้' และการไตร่ตรอง โดย อ.มาซาอากิ ซาโตกับดร.เอสุเกะ ไซโต และ หนังสือ พัฒนาบทเรียนร่วมกันเพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้: คู่มือการปฏิรูปโรงเรียนที่ยั่งยืน โดย ดร.เอสุเกะ ไซโต และคณะ ดำเนินการจัดพิมพ์โดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ด้วยความมุ่งหวังจะช่วยให้ครูเข้าใจปรัชญาของการปฏิรูปโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ สร้างการปฏิรูปโรงเรียนให้เกิดขึ้นจริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๕๙ อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud