ฟิทช์จัดอันดับเครดิต NNEG เป็นครั้งแรกที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พุธ ๑๔ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๔๗
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ให้กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG เป็นครั้งแรกที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้และค่อนข้างมีความแน่นอน อัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง และความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

โครงการรับซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก: อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคงของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ภายใต้โครงการจัดซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กของไทย NNEG ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี (PPA) ในลักษณะ take or pay เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในขณะที่บริษัทฯจะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 125 เมกะวัตต์ของบริษัทฯให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว (โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี) ลักษณะสัญญาดังกล่าวช่วยให้บริษัทฯมีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ

ความเสี่ยงด้านความต้องการที่ต่ำ: ประมาณ 72% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของ NNEG จะถูกขายภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว กฟผ. จะต้องจ่ายค่าใช้ไฟฟ้าและสั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 80% ของกำลังการผลิตที่ตกลงกัน ในขณะเดียวกันแม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับผู้ใช้อุตสาหกรรมจะไม่มีข้อกำหนดการซื้อขายขั้นต่ำ แต่ความเสี่ยงด้านความต้องการจะถูกลดทอนจากความต้องการที่สูงของผู้ใช้อุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร รวมถึงการกระจายตัวของจำนวนลูกค้าโดยโรงงานใน นิคมอุตสาหกรรมนวนครมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 400 เมกะวัตต์และไอน้ำกว่า 60 ตันต่อชั่วโมง ในขณะที่ NNEG เป็น SPP รายเดียวใน นิคมอุตสาหกรรม นอกเหนือจากนี้หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NNEG คือ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร

มีความเสี่ยงด้านราคาเล็กน้อย: ลักษณะของสัญญา PPA ทำให้ความเสี่ยงด้านตลาดตกไปอยู่ที่ กฟผ. โดย NNEG สามารถส่งผ่านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงและจากอัตราแลกเปลี่ยนไปให้กับ กฟผ. ได้ ในขณะที่การจำหน่ายไอน้ำให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมเองก็มีลักษณะราคาเป็นแบบต้นทุนบวกกำไรซึ่งทำให้สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อได้ อย่างไรก็ตาม กำไรจากการขายไฟฟ้าของ NNEG ให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมนั้นมีความเสี่ยงด้านราคาอยู่บางส่วน ถึงแม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งในอดีตได้มีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นในการปรับค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง

อัตราส่วนหนี้สินที่สูงในระยะสั้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ของ NNEG จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.0 - 6.0 เท่า ในปี 2562-2563 จาก 4.3 เท่าในปี 2560 เนื่องจาก บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มจำนวน 3 พันล้านบาทสำหรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 60 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ NNEG ไม่น่าเพียงพอสำหรับการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว NNEG มีแผนที่จะใช้หนี้สินและทุนในการลงทุนนี้โดยจะใช้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 3:1 อย่างไรก็อัตราส่วนหนี้สินสุทธิฯของบริษัทฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากปี 2564 เนื่องจากฟิทช์ไม่คาดว่าบริษัทฯจะมีการลงทุนขนาดใหญ่อีก นอกจากนี้กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะช่วยทำให้บริษัทฯ ลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิฯลงต่ำกว่า 3.5 เท่าในได้ระยะปานกลาง

ความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว: NNEG มีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว และมีขนาดธุรกิจขนาดเล็กและไม่มีการกระจายตัวของรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับอันดับเครดิตของ NNEG รายได้และกระแสเงินสดของ NNEG อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการที่โรงไฟฟ้าจะต้องหยุดโดยไม่ได้คาดหมาย หรือประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่ลดลง อย่างไรก็ตามสัญญาการดำเนินการและบำรุงรักษากับ กฟผ. สัญญาบริการระยะยาวกับ Siemens และระบบป้องกันน้ำท่วมถาวรจะช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ NNEG สะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้และค่อนข้างมีความแน่นอน ความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว และอัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง NNEG มีลักษณะธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับ บริษัทฯในประเทศไทยที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตอยู่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีขนาดและลักษณะของสินทรัพย์และความหลากหลายของธุรกิจที่ต่ำกว่าบริษัทฯในกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยที่จัดอันดับโดยฟิทช์และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า NNEG มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพมากกว่า บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้แอนด์พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ((WHAUP, BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A-(tha)) เนื่องจากบริษัทฯมีสัญญา PPA กับ กฟผ. แต่มีความหลากหลายของธุรกิจที่น้อยกว่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินใกล้เคียงกัน ดังนั้นอันดับเครดิตของ NNEG จึงเท่ากับ สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A-(tha) ของ WHAUP อันดับเครดิตของ WHAUP ที่ 'BBB+(tha)'แนวโน้มเครดิตเป็นลบนั้น ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

NNEG มีการกระจายตัวของโรงไฟฟ้าและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่า บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (GPSC, A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)มาก ในขณะที่ GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงทำให้ NNEG มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

- ค่าไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ

- การขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ความต้องการของผู้ใช้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและเริ่มคงที่ในปี 2562

- การผลิตจากส่วนต่อขยายค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 2563 จนไปถึงระดับการผลิตเป้าหมายในปี 2565

- การลงทุนในส่วนต่อขยายช่วงปี 2561-2563 มูลค่า 3 พันล้านบาท

- อัตราการจ่ายเงินปันผล 80% เพื่อรองรับการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

- การกระจายตัวของโรงฟ้าที่เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญขณะที่ยังรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ที่ต่ำกว่า 3.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

- เงินลงทุนที่มากกว่าที่คาดการณ์ กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ หรือความสามารถในการส่งต่อภาระต้นทุนที่เปลี่ยนไปหรือการพัฒนาด้านกฎระเบียบที่ส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทฯ ซึ่งทำให้คาดการณ์ของระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ที่คาดการณ์ไว้สูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินฯ ของบริษัทฯจะสูงกว่าระดับดังกล่าวในช่วงปี 2561-2563 อันเป็นผลมาจากการลงทุนในส่วนต่อขยายที่ใช้แหล่งเงินทุนโดยการกู้

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่ดี: NNEG มียอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท ในจำนวนนี้หนี้จำนวน 279 ล้านบาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน บริษัทฯมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยมีเงินสดอยู่ที่ 511 ล้านบาท และ NNEG มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพประมาณ 600-700 ล้านบาท ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 ยกเว้นในปี 2562 เมื่อ บริษัทฯจะมี Minor overhaul นอกจากนี้ NNEG ยังมีวงเงินสินเชื่อสำหรับการดำเนินงานที่สามารถเบิกถอนได้อีก 450 ล้านบาทจากเงินกู้โครงการปัจจุบัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5