เยอรมนีสนับสนุนงบประมาณ 690 ล้านบาท ร่วมจัดตั้งแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน

อังคาร ๒๔ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๗:๑๔
รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีร่วมกับรัฐบาลไทยเปิดตัว "แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน" โดยใช้งบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ผ่านการดำเนินงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศของ GIZ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย

ฯพณฯ เพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำในพิธีเปิดตัวแผนงานฯ ว่า "ทั้งประเทศไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือทางวิชาการและให้การสนับสนุนด้านการเงินมาเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยมีความร่วมมือหลากหลายด้านและประสบความสำเร็จอย่างดีในแทบทุกโครงการ ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการใช้พลังงานสูงขึ้น จึงส่งผลให้รัฐบาลไทยเร่งสนับสนุนนโยบายที่มีเป้าหมายในการหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีเพิ่มขึ้น" ฯพณฯ เพเทอร์ พรือเกล แสดงเจตจำนงในการที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรไทยเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์จากเยอรมนี เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

นายสเตฟาน คอนเทียส กรรมาธิการ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) "ตั้งแต่ปีพ. ศ. 2552 เป็นต้นมา BMU ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการในประเทศไทยมากกว่า 13 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการปกป้องผืนป่าเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับแผนงาน IKI ใหม่ที่เรากำลังเปิดตัววันนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีและไทยต่างให้ความสำคัญและพร้อมเร่งดำเนินการตามข้อตกลงปารีสและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 โดยเร็วที่สุด"

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวขอบคุณ BMU และ GIZ ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลมาปรับให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ร่วมกับนโยบายระดับชาติ พร้อมทั้งกล่าวว่า "ประเทศไทยมีความรุดหน้าในการนำผลของการเจรจาหารือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลมาปรับใช้เป็นนโยบายระดับชาติ ในส่วนของการจัดทำและจัดส่ง Nationally Determined Contribution (NDC) หรือเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น ประเทศไทยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และวางแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระหว่างปีพ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ณ ปี พ.ศ. 2573 ที่ร้อยละ 20–25 และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน จะเป็นส่วนสำคัญที่กระทรวงฯ จะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย เพื่อขยายความร่วมมือและร่วมดำเนินงานในระยะต่อไป"

นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของแผนงานนี้ว่า "แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน ยึดหลักการดำเนินงานบนพื้นฐานการมีสัมพันธภาพอันใกล้ชิดและมีมาอย่างยาวนานกับหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินแผนงานฯ ที่มีหลากหลายสาขา อันประกอบด้วยสาขาพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ GIZ ยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกับโครงการอื่นๆ ของไทยอย่างใกล้ชิดในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด"

แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 17.9 ล้านยูโร (ประมาณ 690 ล้านบาท) ให้แก่รัฐบาลไทยในการดำเนินแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน เป็นระยะเวลา 4 ปี (ตั้งแต่พ.ศ. 2561- 2564) โดยดึงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางการพัฒนาสภาพภูมิอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานไทยหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำและกรมการข้าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง