ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ณ กรุงโซเฟีย สาธารณรัฐบัลแกเรีย

ศุกร์ ๒๗ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๔:๓๙
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers' Meeting: ASEM FinMM) ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงโซเฟีย สาธารณรัฐบัลแกเรีย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐบัลแกเรีย (นาย Vladislav Goranov) เป็นประธาน พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซม ทั้งจากฝ่ายยุโรปและเอเชีย รวม 44 ประเทศ คณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนระดับสูงจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้หารือในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยเห็นว่าเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปและเอเชียซึ่งมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อนึ่ง ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งและระดับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่สูง ขณะที่ปัจจัยบวกของการเติบโตทางเศรษฐกิจเอเชียมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็งและภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า ความเปราะบางทางการเงิน การดำเนินนโยบายการคลังที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจ (Pro-cyclical) ของสหรัฐอเมริกา ระดับหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้แก่ European Stability Mechanism (ESM) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) และสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่าง IMF กับกลไกความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวมากขึ้น ในการนี้ ที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาคในการดำเนินนโยบายภาคการเงิน การคลังควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform) เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืนในระยะต่อไป

2. ภาษีและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อาจนำมาซึ่งความท้าทายด้านภาษีระหว่างประเทศและการระดมทรัพยากรภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวทางต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว พร้อมทั้งยินดีที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดทำรายงานเรื่องความท้าทายด้านภาษีจากการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Interim Report on Tax Challenges Arising from Digitalization) ซึ่งได้ระบุถึงแนวทางในการขจัดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดในการจัดสรรกำไรให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลที่เป็นธรรม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้แสดงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายด้านภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับระบบการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศต่อไป

3. ความท้าทายใหม่ ๆ ในระบบการเงินโลก โดยเห็นว่าความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อน และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินโลก ซึ่งที่ประชุมได้มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) นอกจากนี้ การพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างรอบคอบทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาเซมพร้อมที่จะร่วมมือกันในการเสริมสร้างความมั่นคงของการให้บริการทางการเงินและสถาบันการเงินต่อไป

4. นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ (1) นาย David Lipton รองผู้อำนวยการอันดับที่หนึ่งของ IMF โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เป็นต้น สำหรับฝ่าย IMF ได้แสดงความกังวลว่าสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก และ (2) นาย Mr. Petteri Orpo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยฝ่ายฟินแลนด์ได้แสดงความสนใจต่อการดำเนินโครงการ National E-Payment ของไทยและเชิญชวนให้ไทยศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จของฟินแลนด์ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐฟินแลนด์ได้แจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจสาธารณรัฐฟินแลนด์ จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในเรื่องนี้

5. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2563 โดยคาดว่าประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชียจะเป็นเจ้าภาพ

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3613

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง