เกษตรฯ เตือนชาวสวนระวังโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน เหตุฝนตกต่อเนื่อง

พุธ ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๒๑
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องการเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในช่วงปลายเดือนเมษายน 2561

ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตือนภัย และให้คำแนะนำในการรับมือแก่เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ รวมถึงวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรหากเกิดกรณีประสบภัยพิบัติด้วย ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงให้ผลผลิต ให้เฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ทุเรียนทุกระยะมีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ อันจะทำให้ต้นทุเรียนอ่อนแอ กระทบต่อปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนระบาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุเรียนมีราคาแพงเกษตรกรจึงไม่ตัดผลทุเรียนที่ไม่ได้ขนาดทิ้งและไว้ผลทุเรียนในต้นปริมาณมากเกินไป ทำให้ต้นทุเรียนโทรม เสี่ยงต่อการเข้าโจมตีจากโรคและแมลงศัตรูพืชได้ง่าย ซึ่งเชื้อราสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน คือ เชื้อราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา (Phytophthora palmivora) สังเกตลักษณะอาการของต้นที่เกิดโรค

ใบจะไม่เป็นมันสดใส โดยใบค่อย ๆ เหลืองซีดและร่วง ใบอ่อนเหี่ยวเหลือง มีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ บริเวณกิ่ง ลำต้น และโคนต้น มีสีของเปลือกเข้มคล้ายถูกน้ำเป็นวงหรือเป็นทางน้ำไหลลงด้านล่างหรือ

มีรอยแตกของแผล และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหืน แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว ต้นที่เป็นโรครุนแรงจะมีน้ำยางไหลออกมาโดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้น เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ย มีสีน้ำตาล และหลุดง่าย กรณีอาการของโรครุนแรงจะเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย

วิธีป้องกันกำจัดกรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum) ผสมกับรำข้าวและปุ๋ยหมัก ในอัตราเชื้อรา 1 กิโลกรัม รำข้าว 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปโรยรอบโคนต้น ในอัตรา 10-20 กรัมต่อต้น แต่หากโรคเข้าทำลายรุนแรง ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช

ชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยทาแผลทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดโคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน