สกว. ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยท้องถิ่นสร้างกลไกเพื่อการพัฒนาจังหวัด

ศุกร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๒๐
หน่วยบูรณาการงานวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.)

หน่วยบูรณาการงานวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว.ใช้งานวิจัยแนวใหม่ ปรับบทบาทให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เป็น "กลไกกลาง" เชื่อมร้อยความรู้ คน และหน่วยงานเข้าบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัด

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องลดความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ด้วยการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจออกไปจากเมืองหลวง โดยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมา รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล ให้ความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือความเจริญเติบโตดังกล่าว ยังไปได้ช้ามาก ขณะที่ช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบทกลับห่างกันมากขึ้น

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้น จำเป็นต้องใช้

"ข้อมูลความรู้" เป็นฐานในการพัฒนา เพราะแต่ละจังหวัดมีบริบทแตกต่างกัน ซึ่งคนที่จะเข้าใจบริบทพื้นที่และสภาพปัญหาที่แท้จริงได้ดีที่สุดคือ "มหาวิทยาลัย" ที่เป็นหน่วยงานวิชาการและเป็นศูนย์รวมความรู้ มีนักวิชาการและผู้รู้เป็นจำนวนมาก จึงควรมีบทบาทสำคัญในการนำความรู้มาใช้เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดเกิดความยั่งยืน

จากแนวคิดข้างต้น หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเกิดขึ้น ภายใต้การกำกับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยในช่วงปี พ.ศ.2555 – 2556 หน่วยฯ ได้ทดลองทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ภายใต้งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Area Based Collaborative Research) เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็น "กลไกกลาง" เชื่อมร้อยความรู้ คน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาของพื้นที่ ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า จากเดิมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมักทำวิจัยตามความสนใจหรือตามศาสตร์ที่ตนเองถนัด เปลี่ยนเป็นการทำงานวิจัยที่ใช้โจทย์ปัญหาของจังหวัดเป็นตัวตั้ง และมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จังหวัดอย่างใกล้ชิดมากขึ้น สามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัยให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำวิจัยดังกล่าว นอกจากจะสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่แล้ว ยังนำกระบวนการวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการจัดบริการวิชาการ ทำให้ระบบบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเข้มแข็งขึ้น เกิดนักวิจัยหน้าใหม่จำนวนมาก เกิดเครือข่าย และการยอมรับจากชุมชนและหน่วยงานระดับจังหวัด

ประกอบกับปี พ.ศ. 2557 - 2561 เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยเชิงพื้นที่ จึงมอบหมายให้หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ บริหารทุนวิจัยมุ่งเป้าในแผนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นการให้ทุนในลักษณะใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในโครงการ 24 แห่ง พบว่าลักษณะของโจทย์วิจัยมีความสัมพันธ์กับสภาพปัญหาของพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่มากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพิ่มขึ้นแล้ว กระบวนการดังกล่าวยังทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับในฐานะ "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (Area Based University)" กล่าวคือ มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการทำงานวิชาการเพื่อตอบโจทย์ของพื้นที่ โดยหลายแห่งได้รับงบประมาณจากจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

"กระบวนการวิจัยแนวใหม่นี้หัวใจสำคัญคือ การหนุนเสริมให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นมันสมองด้านวิชาการ ใช้ข้อมูลความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ดึงคนหรือกลไกคือหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดมาร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่แต่ละจังหวัดประสบอยู่ เมื่อมหาวิทยาลัยเข้มแข็ง การพัฒนากำลังคนก็ย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การ "ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน" ที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่มากขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้มหาวิทยาลัยรับมือกับความท้าทายใหม่ กรณีรายได้จากการรับนักศึกษาลดลงได้แล้ว ยังสามารถบริหารการใช้งบประมาณวิจัย เพื่อสนับสนุนการทำงานข้ามภารกิจ ทั้งงานวิจัย การเรียนการสอน และบริการวิชาการได้เป็นอย่างดี"

ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research for Development ABC research) ในที่นี้เราเรียกสั้นๆ ว่า ABC เป็นงานวิจัยรูปแบบใหม่ เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมโดยนำพื้นที่ระดับจังหวัดเป็นตัวตั้ง ทำงานบนโจทย์ปัญหาของจังหวัดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการวิจัยที่สร้างกลไกการพัฒนาในพื้นที่ โดยมีกลไกหลักหลายกลไกที่ ABC เข้าไปทำงานด้วย อาทิ กลไกภาคธุรกิจท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเมือง กลไกสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นภาคีหลักที่ ABC ให้ความสำคัญ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา