10 สิ่งห้ามพลาด กับงานนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ Great and Good Friends

อังคาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๑๘
อีกหนึ่งนิทรรศการดีๆที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับงานนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ Great and Good Friends (เกรท แอนด์ กู๊ด เฟรนด์ส เอ็กซิบิชั่น) จัดขึ้นโดย สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรไทย ในรูปแบบการจัดแสดงของขวัญที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 และที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง

นิทรรศการนี้เป็นการแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1818 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 79 ชิ้น ที่หาชมได้ยากและบางชิ้นไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน โดยภายในงานนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน เริ่มจากชั้น 2 เป็นโซนจัดแสดงความสัมพันธ์ 100 ปีแรก และชั้น 1 โซนจัดแสดงความสัมพันธ์ 100 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน เราจึงรวบรวมไฮไลท์สำคัญที่ไม่ควรพลาดในการเข้าชมงานครั้งนี้

1. จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) เขียนถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ในปี พ.ศ.2361 เพื่อติดต่อด้านการค้ากันทางจดหมายเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นภาษาทางการทูตที่ใช้ในราชอาณาจักรไทยสมัยนั้น ส่งผ่านกัปตันเรือชาวอเมริกันนายสตีเฟน วิลเลียมส์ ที่นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนน้ำตาลที่กรุงเทพฯ นี่เองที่ถือเป็นจุดกำเนิดแห่งมิตรภาพของสยามและสหรัฐอเมริกา มาจนถึงทุกวันนี้

2. สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ลงนามกับสหรัฐอเมริกา และเป็นฉบับแรกที่ประเทศในทวีปเอเชียลงนามกับสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2376 ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับพระราชลัญจกรรูปไอราพต เป็นการให้สัตยาบันอย่างสมบูรณ์ พร้อมกันกับรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน โดยต้นฉบับม้วนหนังสือที่มีความสูงกว่าสามเมตรครึ่ง ถูกเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จนถึงทุกวันนี้ และได้ถูกนำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้

3. เครื่องถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยดั้งเดิมที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มอบให้แก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ในปี พ.ศ.2399 ซึ่งเครื่องถมทองเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันประทับใจเมื่อได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ชมความงดงามของเครื่องถมทอง ตลอดจนเครื่องยศต่างๆ ของผู้คนในราชสำนัก การให้เครื่องถมทองเป็นของขวัญหมายถึงทรงเชื้อเชิญแขกเมืองให้มายังราชสำนักสยามนั่นเอง

4. ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ชิ้นนี้สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของเรมบรันต์ พีล ของขวัญจากประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2399 ซึ่งผลงานปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่กรมศิลปากร งานนี้ยกผลงานจริงมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด

5. จดหมายตอบกลับเรื่องพระราชทานช้างเผือก จากอับราฮัม ลินคอร์น ที่ขึ้นต้นหัวจดหมายด้วยคำว่า Great and Good Friends ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระราชสาส์นไปยังประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน โดยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างหนึ่งคู่เพื่อ "ไว้ให้สืบพืชพันธุ์ในทวีปอเมริกา" หลังจากพระองค์ทรงทราบว่าไม่มีช้างอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อพระราชสาส์นไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. นายอับราฮัม ลินคอล์น ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ ในปี พ.ศ.2405 โดยชี้แจงว่า "ภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาไม่เหมาะแก่การขยายพันธุ์ช้าง" ถึงแม้ไทยจะไม่ได้ส่งช้างคู่นั้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสหรัฐอเมริกา แต่น้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสารตอบกลับอันสุภาพจากประธานาธิบดีลินคอล์นก็ได้แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ทั้งสองประเทศมีต่อกัน

6. นิตยสาร TIME ปกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระราชปฏิสันถารกับผู้คนที่มารอรับเสด็จ ในปี พ.ศ.2474 เมืองสการ์โบโร รัฐนิวยอร์ก พระราชดำรัสของพระองค์ในครั้งนั้นทำให้อเมริกันชนยกย่องชื่นชมพระองค์ และสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมทั้งนิตยสารไทม์ซึ่งตีพิมพ์ทั่วประเทศ ลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระองค์ ซึ่งทำให้ประเทศสยามกลายเป็นที่รู้จักไปทุกหนแห่งในสหรัฐอเมริกา

7. กล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ในสมัยรัชกาลที่ 8 ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบีบให้รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา แต่ไทยไม่ส่งคำประกาศดังกล่าวแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งกล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มอบให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เพื่อแสดงความขอบคุณผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ในไทย สื่อถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยในการมุ่งให้เกิดสันติภาพ แม้จะเป็นเพียงของขวัญเพียงเล็กน้อย แต่กล่องใส่บุหรี่ทองใบนี้สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

8. ฉลองพระองค์ครุย ของขวัญที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานแก่สถาบันสมิธโซเนียน ในปีพ.ศ.2490 ฉลองพระองค์ครุย นี้มอบให้เพื่อเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต ขณะทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งของมีค่าทางความสัมพันธ์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากเป็นงานปักถักด้วยเส้นทอง อันละเอียดอ่อน จึงเป็นสิ่งยากมากที่นำมาจัดแสดงโชว์ เพราะอาจจะทำให้เกิดการชำรุดได้ง่าย

9. นิทรรศการเหมือนจริงผ่าน Google Arts & Culture นิทรรศการนี้มีการนำสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามาผสมผสานในการชมนิทรรศการผ่านช่องทางใหม่ๆ ผ่านการคิดค้นมาให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับทุกวัย สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาชมหรือต้องการชมซ้ำอีกครั้ง ซึ่ง Google Arts & Culture สามารถรับชมภาพเสมือนจริงได้ทั้งนิทรรศการ พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับของขวัญจัดแสดงโชว์อย่างละเอียด สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://artsandculture.google.com/partner/queen-sirikit-museum-of-textiles

10. ห้องกิจกรรม และโซนภาพศิลปะ pixel art ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ห้องนี้จะสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐอเมริกาที่มีมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การดำเนินธุรกิจการค้า โดยสื่อผ่านกิจกรรมสลับภาพความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา ผ่านรูปแบบเกมส์จับคู่ มุมถ่ายภาพสนุกๆ และมุมภาพศิลปะแบบ pixel art ที่เป็นการสร้างภาพจากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นภาพขนาดใหญ่ด้วย post-it 3M สีสันต่างๆ พร้อมประทับตราสัญลักษณ์ ให้ทุกคนที่มาร่วมชมนิทรรศการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความคิดเห็นของคำว่า friendship is หรือ ความหมายของความสัมพันธ์ในความคิดส่วนตัวคืออะไร แปะลงไปให้เต็มพื้นที่ก็จะกลายเป็นภาพจับมือกัน เพื่อสื่อถึงมิตรภาพอันดีระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกานั่นเอง

สิ่งของทั้ง 79 ชิ้นภายในงานถูกยกนำมาจัดแสดงทั้งหมด ถือว่างานนี้ได้รวบรวมของที่หาชมได้ยากมาไว้ในที่เดียว รับรองว่ามาแล้วจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน โดยงานนิทรรศการ Great and Good Friends จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ 80 บาท นักเรียน นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าฟรี เปิดทุกวัน 9.00 น. - 16.30 น. งานมีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561

*รูปภาพทั้งหมดจาก https://www.greatandgoodfriends.com/ โซนชั้น 1 สามารถถ่ายภาพได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง