Exercise is Medicine เคล็ด(ไม่)ลับ..ออกกำลังกายให้เป็นยา สุขภาพดี ต้านโรคภัย

ศุกร์ ๐๘ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๐:๐๒
การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษที่ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำอย่างไรให้ถูกวิธีจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ลดโอกาสการเกิดโรค มีคำแนะนำดีจากๆ ผศ.นพ.วิศาล คันธารัตนกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเครือโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งมาร่วมถ่ายทอดความรู้ผ่าน กิจกรรม" Exercise is Medicine" เพื่อส่งเสริมคนไทยออกกำลังกายอย่างถูกวิธี จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี

ผศ.นพ.วิศาล คันธารัตนกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เครือโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า ทุกคน ทุกวัยสามารถออกกำลังกายได้ แม้แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ต้องรู้วิธี ยึดหลักทางสายกลาง ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อแข็งแรงขึ้นจึงค่อยๆเพิ่มระดับภายใต้การดูแล แนะนำที่เหมาะสม ทางเลือกของการออกกำลังกายไม่ได้จำกัดแค่การเล่นกีฬาหรือเข้าฟิตเนสเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ร่างกายให้ออกกำลังได้ง่ายๆ ด้วยการเคลื่อนไหวในวิถีชีวิตประจำวันใมากขึ้น เช่น ขึ้นบันได ทำงานบ้าน หรือเดินให้ไกลขึ้น ทำสะสมต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน

"สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพด้วยอาการโรคหัวใจ หรือปัญหากระดูกหรือข้อต่อ ให้เริ่มออกกำลังกายจากระดับเบาๆก่อน หลักสำคัญคือเลือกให้เหมาะกับตัวเอง ทำแต่พอดี เพราะสภาพร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่แข็งแรงหรือเพิ่งเริ่มออกกำลังกาย แค่การเดินช้าๆก็อาจจะเป็นระดับที่หนักสำหรับเราก็ได้"

ทั้งนี้ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง มี 3 วัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ 1. การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของระบบไหลเวียน หัวใจและปอด ซึ่งสามารถใช้กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำแล้วรู้สึกเหนื่อยกำลังดี ทำต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ง่ายที่สุด คือ การเดิน แกว่งแขวน วิ่ง ขี่จักรยาน ถ้าเดินไม่ไหวอาจเริ่มด้วยการนั่งย่ำเท้าก่อน

2. การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการยกน้ำหนัก การเกร็งกล้ามเนื้อ การออกกำลงกายโดยใช้ยางยืด ทำ 8-10 ครั้งให้พอรู้สึกเมื่อย

3. การออกกำลังกายเพื่อความยืดหยุ่น เช่น บิดตัวในลักษณะการบิดขี้เกียจโดยทำบ่อยๆวันละ 5-10 ครั้งเป็นประจำ หรือฝึกบริหารยืดเหยียดร่ายกายก่อนลุกเดินไปเข้าห้องน้ำทุกครั้งเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ผศ.นพ.วิศาล ยังแนะนำด้วยว่า สำหรับผู้มีปัญหาภาวะอ้วนลงพุง การออกกำลังกายสามารถช่วยลดความเสี่ยงสุขภาพเนื่องจากการมีไขมันเกิน น้ำหนักเกิน และสมรรถภาพร่างกายต่ำหรือไม่ฟิตได้ โดยมีคำแนะนำ 4 หลัก ได้แก่ 1. เริ่มจากการทำเข่าให้แข็งแรง โดยการออกกำลังเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2. เมื่อเข่าแข็งแรงขึ้นจึงเริ่มเพิ่มสมรรถภาพร่างกายให้ฟิตขึ้นด้วยการเดินทุกวัน วันละ 5-10 นาที เดินให้เร็วพอเหนื่อย และค่อยๆเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น

3. ควบคุมอาหาร และเพิ่มกิจกรรมการใช้พลังงานโดยเน้นเป้าหมายลดน้ำหนักร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว และ 4.ลดการสะสมไขมันส่วนเกินที่พุงโดยซิทอัพ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำหลักการออกกำลังเพื่อดูแลกระดูกและข้อ ซึ่งประกอบด้วย 3 หลัก ได้แก่ 1. ทำให้ข้อของส่วนนั้นๆ มีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ได้แก่ การบริหารเข่าด้วยท่านอนหงาย แล้วลากเท้า งอเข่าขึ้น-ลงให้ราบที่สุดและให้ค่อยๆงอได้มากที่สุดจนมาชิดกับสะโพก 2. การบริหารเพื่อการยืดเหยียดกล้ามเนื้อรอบเข่าด้านหน้าและหลังวันละ 2 รอบ รอบละ 10 ครั้ง โดยท่านอนราบแล้วดึงเข่าชิดอก ค้าง นับ 1-5 แล้วค่อยๆเหยียดขาออก

3. การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า เพิ่มความแข็งแรง โดยนั่งบนพื้นเหยียดขาออก สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า เมื่อเหยียดขาแล้ว เข่าจะลอยไม่ติดพื้น ให้พยายามกดเข่าลงให้แนบกับพื้น ค้างไว้ นับ 1-5 เพื่อบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า อีกท่า คือท่านั่งบนเก้าอี้ ใช้หมอนรองใต้เข่า แล้วถ่วงถุงทราย หรือของที่มีน้ำหนักไว้บนข้อเท้า จากนั้น ค่อย ๆ ยกเท้าขึ้นช้า ๆ พยายามให้เข่าอยู่นิ่ง ๆ เมื่อทำคล่องแล้ว ควรเพิ่มน้ำหนักขึ้น ครั้งละ ประมาณ 300-500 กรัม โดยทั้ง 2 ท่านี้จะสามารถช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หลักการออกกำลังเพื่อดูแลกระดูกและข้อ ยังใช้ได้กับการบริหารคอ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การคงสภาพการเคลื่อนไหว ด้วยการก้มสุด เงยสุด 10 ครั้ง และหันหน้า ซ้ายสุด ขวาสุด 10 ครั้ง และเอียงศรีษะซ้ายขวาอีก 10 ครั้ง 2. การบริหารเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ วันละ 2 รอบ รอบละ 10 ครั้ง โดยใช้มือดึงศีรษะเหยียดไปด้านข้างช้าๆ ค้างนับ 1-5 และ 3. การบริหารเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ โดยใช้ยางยืดคล้องศีรษะเหนือหู และดึงไปด้านหลัง นับค้าง 1-5 วินาที จำนวน10 ครั้ง พร้อมดึงไปด้านซ้าย และด้านขวา ให้ครบทั้งสองข้าง เป็นจำนวน10 ครั้ง

"3 อ.ที่สำคัญของการดูแลสุขภาพ คือ อากาศเป็นยา อาหารเป็นยา และออกกำลังกายเป็นยา มีการศึกษามากมายถึงข้อดีของออกกำลังกายต่อสุขภาพ เช่น คนที่ออกกำลังกายและปรับการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการควบคุมอาหาร เมื่อติดตามไป 4 ปี มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานลดลง นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ได้ผ่าตัดขยายหลอดเลือดถึงเกือบ 40% อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอาการปวดของภาวะปวดเข่าจากเข่าเสื่อมได้อย่างดี" ผศ.นพ.วิศาล ย้ำถึงประโยชน์มากมายของการออกกำลังกายให้เป็นยาซึ่งทุกคนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและลดโอกาสป่วยด้วยตัวเอง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว