'ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’รุกขยายพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุ เตรียมเปิดตัวบริการใหม่-ปรับโฉมเว็บไซต์สร้างความแตกต่าง ลุ้นภาครัฐออก พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพิ่มวินัยการออมเงิน

จันทร์ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๐:๒๗
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล รุกขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เตรียมเปิดตัวบริการใหม่ 'Online Retirement Planner' ในเว็บไซต์ พร้อมปรับโฉมเว็บไซต์พัฒนาฟังก์ชันและการใช้งานที่ง่ายขึ้น เน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุในปีนี้เป็น 6,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 50% ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สร้างวินัยการออมเงินในภาคบังคับสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ หลังล่าสุดรอชงเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1

นางปาจรีย์ บุณยัษฐิติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลบริษัทหลักทรัพย์กองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 4 'Smart Retirement ยุค Thailand 4.0' ว่า ได้รุกเพิ่มศักยภาพการให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากบลจ.รายอื่นๆ โดยคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเปิดตัวบริการใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้แก่ 1.การให้บริการติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ พิจารณาปรับแผนลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการเกษียณ 2.การให้บริการ Online Retirement Planner สำหรับคำนวณเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุแล้ว ซึ่งตามหลักควรมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้อีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในอัตราเฉลี่ยต่อเดือนที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ และ 3.การเปิดตัวเว็บไซต์ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลโฉมใหม่ที่พัฒนาฟังก์ชันและการใช้งานที่ง่ายขึ้น เช่น สามารถเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเงินออมในกองทุนประกันสังคม ข้อมูลการซื้อกองทุน LTF RMF ฯลฯ เพื่อคำนวณเงินออมสำหรับการเกษียณอายุทั้งหมด

ทั้งนี้ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้ให้ความสำคัญการให้บริการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการลงทุน (PRE-INVESTMENT) โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่นายจ้างในการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แต่ละบริษัท การออกแบบแผนการลงทุนให้แก่ลูกจ้าง การจัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ ซึ่งในปีนี้มีการอบรมไปแล้วกว่า 160 ครั้ง ส่วนในขั้นตอนของการลงทุน (INVESTMENT) นั้น บลจ.ซีไอเอ็มบีฯ จะยึดหลักการบริหารเงินและความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง และในขั้นตอนหลังการลงทุน (POST-INVESTMENT) จะเน้นการให้บริการแก่สมาชิกกองทุนสามารถติดตามความคืบหน้าของผลการดำเนินงาน เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรืออัตราเงินสะสมให้สามารถบรรลุเป้าหมายในวัยเกษียณ

"เรามีเป้าหมายขยายพอร์ตมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมดุลตามอายุ หรือTarget Date Fund ที่มีจุดเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หรือเติบโต 50% จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า NAV ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังมีลูกจ้างของบริษัทเอกชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตามสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เราพบว่าบางส่วนยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนและอัตราการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนฯ ที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายการออมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเพียงพอ" นางปาจรีย์ กล่าว

ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อสร้างวินัยการออมเงินภาคบังคับให้แก่ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน สามารถมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุในรูปแบบการรับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนฯ ซึ่งแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมภาคสมัครใจ โดยปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และรอการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ จะบังคับใช้กับลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยลูกจ้างและนายจ้างจะต้องนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ในอัตราเท่ากัน (กำหนดเพดานค่าจ้างการคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบที่60,000 บาท) โดยในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 ปีที่ 7-9 และตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป จะให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละไม่น้อยกว่า 3% 5% 7% และไม่เกิน 10% ของค่าจ้างตามลำดับ อย่างไรก็ตามลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว โดยเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างจะได้รับผลตอบแทนเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน

ส่วนการเข้าสู่ระบบ กบช. สำหรับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบช. กิจการที่ได้รับ BOI กิจการที่ต้องการเข้าระบบ กบช. เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 2 นับจากกฎหมายประกาศใช้ กิจการเอกชนที่มีลูกค้าตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 5 นับจากกฎหมายประกาศใช้และกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 7 นับจากกฎหมายประกาศใช้ โดยคณะกรรมการ กบช.จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนและคัดเลือกผู้บริหารเงินในกองทุน แต่ให้ลูกจ้างเป็นผู้เลือกแผนการลงทุน และจะมี Default Policy สำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกนโยบายที่กองทุนจัดให้

นางสาวเนาวรัตน์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีการแสดงความคิดเห็นถึงการบริหารจัดการกองทุนฯ ดังกล่าว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุน กบช.และมีความโปร่งใส โดยในส่วนการบริหารจัดการกองทุนฯ คงจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงรองรับในภายหลัง หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาเพื่อเตรียมบังคับใช้แล้ว

นาย Vicente Corta Fernández, Director, Principal Financial Group (Mexico) กล่าวว่า เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลักดันระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อให้เกิดวินัยออมเงินสำหรับการเกษียณอายุ โดยกำหนดให้เกษียณเมื่ออายุ 65 ปี และมี AFORE ที่เป็นนิติบุคคลด้านการเงินเข้ามาบริหารกองทุน โดยเม็กซิโกกำหนดให้ต้องจ่ายเงินเพื่อการออมรวมประมาณ 6.5% ของเงินเดือน ซึ่งมาจากเงินสะสมจากลูกจ้าง 1.25% เงินสมทบจากนายจ้าง 5% และเงินสมทบจากรัฐบาล 0.225% และ ลูกจ้างอาจสมัครใจจ่ายเพิ่มอีก 5% ให้แก่กองทุนที่อยู่อาศัย (Housing Fund) เพื่อให้ได้เงินออมที่เพียงพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะมีบริษัทจัดการประมาณ 10 บริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ นำเงินไปลงทุนทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดี การบริหารจัดการด้านการลงทุนเป็นแบบกระจายการบริหารโดยให้ผู้จัดการกองทุนแต่ละรายแยกกันบริหาร (Decentralized) แต่การบริหารจัดการด้านทะเบียนสมาชิกเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของเม็กซิโกยังแนะนำให้เพิ่มอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเป็นมากกว่า 12.5% เพื่อให้สามารถการใช้จ่ายยามเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง