รายงานตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 และแนวโน้มครึ่งหลังปี 61

พฤหัส ๐๕ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๐๙
ภาพรวมตลาดบ้านสร้างเอง

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคและประชาชนทั่วประเทศ ประเภท "บ้านเดี่ยวสร้างเอง" ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-มิ.ย.) ชะลอตัวลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเองในครึ่งแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2561) ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ยังคงคาดการณ์มูลค่าตลาดรวม "บ้านสร้างเอง" ทั่วประเทศในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท โดยประเมินจากแนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางขึ้นไป ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับ "ธุรกิจรับสร้างบ้าน" หรือกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน (ไม่ใช่ ผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป) ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ประมาณเกือบ 200 ราย แข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้ทั่วประเทศ โดยตลอดช่วงระยะ 6 เดือนแรก ปี 2561 นี้คาดว่าสามารถแชร์ส่วนแบ่งจากตลาดบ้านสร้างเองอยู่ที่ประมาณ 6.8 - 7 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเกิดจากมูลค่าบ้านต่อหน่วยที่ลดลง ด้วยเหตุเพราะมีการแข่งขันตัดราคากันดุเดือด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่เน้นจับตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีจำนวนผู้ประกอบการแข่งกันอยู่มากที่สุด

ตลอดระยะเวลาครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานขาดแคลนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในส่วนของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงท้ายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จำนวนแรงงานต่างด้าวตามไซต์งานลดน้อยลง เพราะส่วนหนึ่งต้องหมดเวลาไปกับการติดต่อขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทำงานให้เรียบร้อย เนื่องจากหลังวันที่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องจะถูกลงโทษสถานหนักตามนโยบายของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ก็มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาพอสมควร

ทิศทางและโอกาส

แม้สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านและภาพรวมการแข่งขันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคจะเติบโตได้ในครึ่งปีหลัง โดยประเมินสถานการณ์จาก 1.แนวโน้มการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ 2.มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล 3.การสนับสนุนสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารของรัฐ 4.ประชาชนนำที่ดินรกร้างว่างเปล่าออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น และ 5.ความพยายามกระตุ้นตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ทั้งนี้จากการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศในปี 2561 นี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ และอีกหลาย ๆ หน่วยงานคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจประเทศน่าจะขยายตัวได้สูงถึง 4.8% โดยการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 อันเป็นผลมาจากการยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงผลจากมาตรการอัดฉีดงบประมาณและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนธนาคารของรัฐที่จัดสรรวงเงินปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ประชาชนที่มีความต้องการซื้อและสร้างบ้านหลังใหม่ อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ฯลฯ โดยสมาคมฯ มองว่าปัจจัยเหล่านี้จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่จะสนับสนุนตลาดรับสร้างบ้านให้กลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ผลจากการตื่นตัวของประชาชน ในการนำที่ดินรกร้างว่างเปล่าออกมาใช้ประโยชน์ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูง ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลเตรียมคลอดออกมา ซึ่งก็มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนมีการสร้างบ้าน และส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวได้อีกทางหนึ่ง ผนวกกับแรงผลักดันของบรรดาผู้ประกอบการ ที่ช่วยกันโหมกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 3 นี้ เชื่อว่ามูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี การหันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือ แทนการใช้ผู้รับเหมารายย่อยได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีตัวเลือกและมีความสะดวกมากขึ้น อันเป็นผลมาจากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำหลายราย มีการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจตัวเอง สามารถขยายสาขาให้บริการได้ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด รวมถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหม่ ๆ ในท้องถิ่น ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านขยายและเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน

นายกสมาคมฯ ชี้แนะ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากมองทิศทางและแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในอนาคต มั่นใจว่ายังมีโอกาสขยายและเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องพัฒนาและยกระดับตัวเองให้เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง หาใช่มีแค่แบบบ้านกับโชว์รูมขายเท่านั้น ก็เรียกตัวเองว่าเป็นมืออาชีพรับสร้างบ้านแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มีการบริหารและปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ผลิตภัณฑ์และบริการมีมาตรฐานและขั้นตอนกำหนดไว้ชัดเจน ทีมงานที่มีความรู้และเชี่ยวชาญจริง วิเคราะห์และคำนวณต้นทุนได้แม่นยำ มีแบรนด์และตราสินค้าเป็นที่จดจำของผู้บริโภค ฯลฯ เป็นต้น ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านได้อย่างป็นมืออาชีพ

"ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และพูดคุยกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ เกี่ยวกับราคารับจ้างสร้างบ้านว่า เหตุใดจึงรับสร้างบ้านได้ในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งคำตอบที่ได้จากปากของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุคล้าย ๆ กันคือ ยอมที่จะรับจ้างในราคาเกือบจะเท่าต้นทุนก่อสร้างหรืออาจเรียกว่าแทบจะทำให้ฟรี นั่นก็เพราะต้องการจะสร้างผลงานตัวอย่าง เพื่อผู้ว่าจ้างรายต่อ ๆ ไปจะได้รู้สึกมั่นใจที่เลือกใช้บริการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ทุกรายต่างก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูง หากไม่มีผู้ใดว่าจ้างสร้างบ้านอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจมีปัญหาหมุนเงินไม่ทัน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงนี้ไม่ได้ตกอยู่แค่เฉพาะกับฝ่ายผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ผู้บริโภคหรือผู้ว่าจ้างเองก็มีส่วนร่วมในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน"

นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มาโดยตลอด กระทั่งเกิดความร่วมมือกันจัดทำโครงการฝึกอบรมตามหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาสร้างบ้าน โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริง จากกลุ่มรับสร้างบ้านชั้นนำ มาแชร์องค์ความรู้และแนวทางการบริหารธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเป้าหมายของสมาคมฯ ก็คือ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดข้อผิดพลาดของการประกอบธุรกิจสร้างบ้าน พร้อม ๆ กับการสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หากท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง