กรมปศุสัตว์ย้ำเนื้อไก่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีมาตรการเฝ้าระวัง-ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

ศุกร์ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๐๓
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกกรณีการสุ่มตรวจเนื้อไก่ ระบุเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ออกตรวจสอบมาตรฐานทั้งที่จุดจำหน่ายและย้อนกลับถึงฟาร์มเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในอาหาร แนะเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ ในฐานะ "มิสเตอร์ไก่เนื้อ" เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยมีการพัฒนาทั้งด้านอาหารสัตว์ การเลี้ยง-การจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังมีระบบการรับรองและกำกับดูแล ให้สถานประกอบการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอาหารทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการตรวจสอบและติดตาม ทั้งที่โรงงานอาหารสัตว์ที่มีการควบคุมการใช้อาหารสัตว์ผสมยาโดยสัตวแพทย์ การเลี้ยงที่ฟาร์มมาตรฐาน การเชือดชำแหละที่โรงฆ่าที่ถูกสุขอนามัยและถูกกฎหมาย จนถึงการจัดจำหน่าย ทั้งที่ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ที่สำคัญยังมีการเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะและสารตกค้างอย่างเข้มงวดทั้งวงจร

"จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีการสุ่มเก็บตัวอย่างครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมกว่า 30,683 ตัวอย่างต่อปี และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล ISO17025 เป็นที่ยอมรับในระดับโลก พบว่า สินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานสากลที่นานาชาติยอมรับ ซึ่งเป็นผลมาจากการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวและย้ำว่า

ขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เนื่องจากกระบวนการผลิตไก่เนื้อในอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัยกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจซ้ำอีกครั้ง และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะมีการเก็บตัวอย่างสินค้าและตรวจสอบเป็นประจำ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังสารตกค้างต่างๆในสินค้าปศุสัตว์ ดังเช่น สัญลักษณ์ Q หรือสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ที่กรมปศุสัตว์มอบให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีมาตรฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ "การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560–2564" เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังจัดทำโครงการร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งประชาชาติ (FAO) ในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการส่งเสริม สนับสนุนแนะนำให้จัดทำระบบการเลี้ยงที่สามารถป้องกันโรคได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็น "สายตรวจปศุสัตว์" หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์ สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน แอพพลิเคชั่น "DLD 4.0" เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง