สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “83.21% ไม่สนนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ดูคุณภาพการทำงาน”

ศุกร์ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๕๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสี่ปีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" สำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 สิงหาคม พ.ศ.2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,203 คน

นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจสามฝ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุกในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ถึงแม้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญประชาชนจะไม่ได้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจึงเป็นตำแหน่งที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ของที่มาว่าจำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่สังคมต้องการ เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ มีบุคลิกความเป็นผู้นำ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นี้เป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 4 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้นก็มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมถึงจุดเด่นจุดด้อยในฐานะนายกรัฐมนตรีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสี่ปีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 และเพศชายร้อยละ 49.71 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับคุณสมบัติสำคัญของนายกรัฐมนตรีที่กลุ่มตัวอย่างต้องการมากที่สุด 5 ประการ คือ มีความซื่อสัตย์สุจริตคิดเป็นร้อยละ 89.11 ทำงานเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญคิดเป็นร้อยละ 86.87 ไม่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง/คนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 84.54 มีความจริงใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 81.8 และมีบุคลิกความเป็นผู้นำ/กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดคิดเป็นร้อยละ 79.05

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการให้ความสำคัญระหว่างคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารงานกับที่มาของนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.21 ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญกับคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.88 ระบุว่าให้ความสำคัญเท่าๆ กันทั้งสองเรื่อง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.91 ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญกับที่มาของนายกรัฐมนตรีมากกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.83 ไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่มีที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ให้ประชาชน/ชาวบ้านมากกว่านายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 21.36 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.81 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อจุดเด่นและจุดด้อยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรีมาสี่ปีนั้น จุดเด่น 3 ประการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรีมา 4 ปี ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ มีความจงรักภักดีเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์คิดเป็นร้อยละ 86.03 มีความตั้งใจทำงาน/แก้ปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 83.87 และมีความเป็นกันเองกับชาวบ้าน/ประชาชนคิดเป็นร้อยละ 82.29

ส่วนจุดด้อย 3 ประการ ได้แก่ มักมีอารมณ์ฉุนเฉียวเวลาให้สัมภาษณ์คิดเป็นร้อยละ 83.79 พูดเร็วเกินไปเวลาสื่อสารโดยตรงผ่านสื่อสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 82.04 คนใกล้ชิด/ญาติพี่น้องมีพฤติกรรมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมคิดเป็นร้อยละ 80.55

ส่วนเรื่องที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาในปัจจุบันมากที่สุด 5 เรื่อง คือ เรื่องปากท้อง/ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นร้อยละ 86.7 เรื่องการทุจริตต่างๆในหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 84.95 เรื่องพฤติกรรม/การทำงานที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐคิดเป็นร้อยละ 82.63 เรื่องอาชญากรรม/ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 80.38 และเรื่องราคาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตกต่ำคิดเป็นร้อยละ 78.22

ในด้านความคิดเห็นต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีและการตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.49 ระบุว่าตนเองยังคงไว้วางใจที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.2 ไม่ไว้วางใจแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.31 งดออกความเห็น/ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.03 เห็นด้วยหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.75 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.22 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง