สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “ประชาชน 61.73% ค้านการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่นจ่ายยาแทนเภสัชฯได้”

จันทร์ ๑๗ กันยายน ๒๐๑๘ ๐๘:๕๗
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกระบวนการจ่ายยารักษาโรคกับปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรค" สำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 13 กันยายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,181 คน

ยารักษาโรคจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสี่อย่างที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และยารักษาโรคที่จำเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลบางส่วนยังประสบปัญหาในการเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็น ขณะเดียวกันการหาซื้อยารักษาโรคตามร้านขายยากลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ด้วยกระบวนการซื้อยาที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงร้านขายยาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีเภสัชกรประจำร้านเพื่อจ่ายยา ประกอบกับลักษณะนิสัยของคนไทยส่วนหนึ่งที่นิยมการไปซื้อยามารับประทานเองเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ยอมไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล

เหล่านี้ คือ สาเหตุที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งใช้ยารักษาโรคมากเกินความจำเป็น และในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาโดยกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น สามารถทำหน้าที่จ่ายยาให้กับคนไข้/ผู้ป่วยแทนเภสัชกรได้

ทำให้กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้ทันท่วงที แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าอาจทำให้ประชาชนเกิดอันตรายจากการใช้ยาและทำให้ประชาชนใช้ยาต่างๆ เกินความจำเป็น รวมถึงอาจเป็นการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่สามารถเปิดร้านขายยาได้อย่างเต็มรูปแบบภายในร้านสะดวกซื้อ

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไปโดยตรง ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกระบวนการจ่ายยารักษาโรคกับปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรค

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.64 และเพศชายร้อยละ 49.36 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการไปซื้อยามารับประทานกับการไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเวลารู้สึกมีอาการเจ็บป่วย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.08 ระบุว่าตนเองจะเดินทางไปซื้อยาที่ร้านขายยามารับประทานก่อน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.7 จะเดินทางไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลก่อน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.22 ระบุว่าแล้วแต่สถานการณ์/ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วย

ในด้านความคิดเห็นต่อการมีร้านขายยากับการเข้าถึงยาและการใช้ยาเกินความจำเป็นนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.72 มีความคิดเห็นว่าการมีร้านขายยาประจำชุมชนมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.88 เห็นด้วยว่าในปัจจุบันคนไทยสามารถหาซื้อยารักษาโรคต่างๆผ่านร้านขายยาทั่วไปได้ง่ายเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.33 เชื่อว่าในปัจจุบันมีร้านขายยามากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านจริงตามที่ระบุไว้เพื่อจ่ายยา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.75 เชื่อว่ามีประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.92 เชื่อว่ามีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่มีเภสัชกรประจำอยู่จริงเพื่อจ่ายยา

ในด้านความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่นสามารถจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.75 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.37 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะส่งผลให้คนไทยใช้ยารักษาโรคมากเกินความจำเป็นได้

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.82 มีความคิดเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้จะไม่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้จริง

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.73 ไม่เห็นด้วยหากจะมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถจ่ายยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย/คนไข้แทนเภสัชกรได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.65 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.62 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์เวลาซื้อยาที่ร้านขายยานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.77 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้งเวลาไปซื้อยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านที่ร้านขายยาทั่วไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68.42 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้ต้องแสดงใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้งเวลาไปซื้อยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านที่ร้านขายยาทั่วไปจะมีส่วนช่วยให้คนไทยลดการใช้ยารักษาโรคโดยไม่จำเป็นลงได้

และในด้านความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้มีเภสัชกรประจำร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายยา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.07 ไม่เห็นด้วยหากจะอนุญาตให้มีเภสัชกรประจำร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายยารักษาโรคนอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.95 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.98 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง