สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 คดีที่ตำรวจมีการเรียกรับสินบนมากที่สุด”

อังคาร ๑๖ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๓๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" สำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,208 คน

การทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน ปราบปราม การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนต่างๆปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมมักวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าเป็นเพราะบทลงโทษที่ไม่เด็ดขาด การปล่อยปละละเลยของผู้บังคับบัญชา รวมถึงการช่วยเหลือปกป้องพวกพ้อง เป็นต้น

ขณะเดียวกันสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยได้คือ ประชาชนบางส่วนยังมีพฤติกรรมการเสนอสินน้ำใจหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีความ เช่นเดียวกับการมีค่านิยมมอบสินน้ำใจเพื่อตอบแทนความช่วยเหลือ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.33 และเพศชายร้อยละ 49.67 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ประเภทคดีที่มีปัญหาการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ คดีจราจร/การขนส่งคิดเป็นร้อยละ 86.92 คดียาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 84.69 คดีค้าของเถื่อน/ของผิดกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 82.37 คดีทะเลาะวิวาท/ทำร้ายร่างกายคิดเป็นร้อยละ 79.64 และคดีล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็นร้อยละ 76.66

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชากับนายตำรวจชั้นผู้น้อยกับการมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.05 มีความคิดเห็นว่านายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชามีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนได้มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.04 มีความคิดเห็นว่านายตำรวจชั้นผู้น้อยมีส่วนทำให้เกิดปัญหาได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.91 ระบุว่านายตำรวจทั้งสองกลุ่มมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเท่าๆกัน

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.24 มีความคิดเห็นว่าพฤติกรรมของประชาชนที่ชอบเสนอสินน้ำใจ/ค่าน้ำร้อนน้ำชามีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.94 ไม่เชื่อว่าตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่รู้เห็นกับพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.08 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนด้วยการย้ายออกนอกพื้นที่จะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มากขึ้น

สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด 3 ปัจจัยที่มีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างคือ ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันคิดเป็นร้อยละ 89.07 การปลูกจิตสำนึกประชาชนไม่ให้เสนอสินน้ำใจคิดเป็นร้อยละ 87.17 ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดคิดเป็นร้อยละ 84.6

ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.6 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชามีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.78 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.62 ไม่แน่ใจ

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.61 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้ผู้ที่มีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนต้องรับโทษประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลดลงไปได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.52 มีความคิดเห็นว่าหากมีการสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนทันทีโดยไม่ได้รับเงินเดือนแทนการย้ายออกนอกพื้นที่ในระหว่างการสอบสวนจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลดลงไปได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.35 มีความคิดเห็นว่าปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยภายในช่วงเวลายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.49 มีความคิดเห็นว่าจะสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ภายในช่วงยุทธศาสตร์ 20 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.16 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง