'ฉาย บุนนาค’ คุมทัพเนชั่นกรุ๊ป ประกาศพลิกฟื้นองค์กร

จันทร์ ๑๔ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๑:๐๔
นับตั้งแต่ปี 2559 บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เผชิญผลกระทบจากอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่ธุรกิจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในภาวะถดถอย ทำให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงินเหมือนกับรายอื่นในอุตสาหกรรม จนมาสู่การผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารและโครงสร้างธุรกิจ

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2562 มีมติแต่งตั้ง 'ฉาย บุนนาค' ดำรงตำแหน่งกรรมการ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2562 การเข้ามานั่งแท่นบริหารองค์กรสื่อที่มีอายุยาวนาน 47 ปี ท่ามกลางมรสุมลูกใหญ่ที่ต้องจัดการคือภาระหนี้ก้อนโตเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายผู้บริหารใหม่ นำพาองค์กรแห่งนี้ให้พ้นจากภาวะถดถอย

'ฉาย' เปิดใจว่าปัญหาของกลุ่มเนชั่นคืออยู่ในธุรกิจสื่อที่ถดถอยและยากลำบาก กลุ่มเนชั่นมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ที่สถานการณ์ไม่ค่อยดี ขณะที่ธุรกิจดิจิทัล รายได้ยังไม่สามารถขึ้นมาทดแทนรายได้โฆษณาสิ่งพิมพ์ได้ ด้านทีวีดิจิทัล มีต้นทุนการประมูลที่แพงเกินจริง ซึ่งกลุ่มเนชั่นมีหลายสื่อในตัวเองจึงเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อมๆกัน ยิ่งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยน แปลง จึงเห็นผลกระทบที่หนักมากขึ้น

ขณะเดียวกันปณิธานและจิตวิญญาณในการทำข่าวต้องคงเอาไว้ เพราะเนชั่นเป็นสถาบันมากกว่าเป็นบริษัท สื่อที่เป็นที่พึ่งของประชาชน เสมือนห้องครัวของประเทศมีผลผลิตที่มีอิทธิพล ถ้าเสนอสิ่งที่ผิดเปรียบเสนอยาพิษให้กับประเทศ

เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปนั้นและยังรักษาความเป็นสถาบันสื่อที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารทุกคนที่มานั่งทำงานกันวันนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรม การขับเคลื่อนองค์กร 13 ราย ประกอบด้วย นายฉาย บุนนาค นายสมชาย มีเสน นางสาววรางคณา กัลยาณประดิษฐ์ นางมัธยา โอสถานนท์ นางเนตรนภา ภูษิตตานนท์ นายศุภวัฒน์ สงวนนาม นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย นายพรประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร นายประกิต ชมภูคำ นางสาวเอี่ยมศรี บุญหชัยรัตน์ และนางสาวนัฐวรา แสงวารินทร์

นอกจากนี้ยังมีคณะที่ปรึกษาอีก 6 ราย ประกอบด้วยนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม นายมารุต อรรถไกวัลวที นายพนา จันทรวิโรจน์ นายปราโมท ฝ่ายอุประ นายพิพัฒน์ ชนะสงคราม และ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล

ดังนั้นการอยู่รอดให้ได้ในธุรกิจสื่อที่กำลังถดถอย คอนเทนท์ ต้องมีความน่าเชื่อถือ (content is a king) พร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มเนชั่นหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ไปแล้ว ยังมีปัญหาหนี้ที่ต้องแก้ไขพร้อมๆกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

***ยึด 4 กลุ่มธุรกิจ

สำหรับโครงสร้างธุรกิจที่ปรับไปแล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ มีทั้งหมด 3 ฉบับ คือกรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และ THE NATION ตั้งเป้ารายได้ปีนี้รวมที่ 700 ล้านบาท

2.ธุรกิจทีวี มี 2 ช่อง ตั้งเป้ารายได้ 1,100 ล้านบาท มาจากช่อง NATION 22 ประมาณ 500 ล้านบาท และช่อง NOW 26 อีก 600 ล้านบาท ซึ่งแต่ละช่องมีจุดแข็งแตกต่างกัน ช่อง NATION 22 จะคงความเป็นช่องข่าวที่เข้มข้น ส่วนช่อง NOW 26 ยังอยู่ระหว่างปรับแผนธุรกิจจะมีการเปิดเผยในช่วงเดือนก.พ. นี้

3.ธุรกิจดิจิทัล เป็นงานที่ยากที่จะตั้งเป้าหมายในปีนี้ เพราะรายได้แฝงรวมอยู่ในแต่ละสื่อที่เนชั่นมีอยู่แล้ว แต่รายได้ต้องหาช่องทางที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับสื่อที่มีอยู่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มไหน ดังนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูงานในส่วนนี้อย่างเดียว

4. ธุรกิจอีเวนท์ แบ่งเป็นส่วน 2 คือคงงานที่กลุ่มเนชั่นดำเนินการอยู่แล้ว และนำโครงการเดิมมาปัดฝุ่นใหม่ จะเห็นได้ว่า กรุงเทพธุรกิจมีงานสัมมนา งานดินเนอร์ทอล์ก ด้านทีวีมีงานวิ่ง ปั่นจักรยาน คมชัดลึกอวอร์ด์ แทนคุณแผ่นดิน และปีนี้ทีวีจะมีโครงการอบรมสานฝันผู้ประกาศ

นอกจากนี้งานอีเวนท์พิเศษจัดปีละครั้งเพื่อให้เป็นรายได้หลักและเป็นการเน้นจุดขายให้องค์กร น่าจะเป็นงานเกี่ยวข้องกับงานดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีสื่อไหนจัด โดยมีเป้าหมายของธุรกิจอีเวนท์มีรายได้ปีนี้ 150-200 ล้านบาท

"รายได้ทั้งกลุ่มเนชั่นในปี 2562 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ไม่เกินความสามารถเพราะปัจจุบันธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรได้ แต่ด้วยภาระหนี้ในอดีตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง 8-9% ต่อปีและมาจากกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทั้งธุรกิจมหาวิทยาลัย บริษัทขนส่ง บริษัทโรงพิมพ์ จึงทำให้มีภาระดอกเบี้ยปี 2561 สูงถึง 90 ล้านบาท เท่ากับช่วงที่ผ่านมามีภาระการเงินในกลุ่มเหล่านี้ 50 ล้านบาท หากเคลีย์ปัญหาหนี้สินตรงนี้ฐานการเงินกลับมาเป็นบวกได้"

***ปรับโครงสร้างการเงิน/เพิ่มทุน

การปรับโครงสร้างทางการเงินจึงมีความสำคัญจากมูลค่าหนี้กับสถาบันการเงินถึง 9 แห่งมีตั๋วเงิน บี/อี 300 กว่าล้านบาท ตั๋วสัญญาเงิน (PN) 300ล้านบาท สินเชื่อระยะสั้นและยาวกับสถาบันการเงินอีก 800 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการเจรจากับเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มทุน นำมาพัฒนาธุรกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้ ซึ่งหลังจากเจรจากับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ล้วนเห็นชอบหมด ทำให้คาดว่าน่าจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้เสร็จภายในไตรมาส 1 และดำเนินการเพิ่มทุนในช่วงไตรมาส 2 ตามแผนการเพิ่มทุนครั้งนี้นำมาใช้หนี้กับสถาบันการเงิน ที่เหลือนำมาลงทุน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยเตรียมที่จะลงทุนด้านทีวีมีการปรับปรุงสตูดิโอใหม่ พัฒนาผู้ประกาศ และเนื้อหาข่าว ด้านหนังสือพิมพ์ นักข่าวต้องมีคุณภาพ ทำข่าวเจาะลึก เชิงวิเคราะห์ เพื่อให้เนื้อหาข่าวเป็นจุดแข็งของหนังสือพิมพ์ให้ได้

"เจรจากับสถาบันการเงินบางแห่งบ้างแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะคุยได้ ทำให้การเพิ่มทุนสามารถเกิดขึ้นได้และจะทำให้บริษัทอยู่ได้ด้วยจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ กลับมามีกำไรได้ภายในปี 2562 จากปี 2561 ยังรับรู้ขาดทุนจากธุรกิจที่ไม่ใช่รายได้หลัก ซึ่งเมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งตรงนี้ในวันนี้แล้วขอประกาศเลยว่าจะไม่รับเงินเดือนทั้งสิ้นจนกว่าบริษัทจะกลับมามีกำไรสุทธิ".

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้