สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์เผย “5 เหตุผลทำไม? ครูถึงหนี้เงินกู้”

พฤหัส ๑๗ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๕:๑๕
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวปัญหาหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู" สำรวจระหว่างวันที่ 12 ถึง 16 มกราคม พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,203 คน

อาชีพครูถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นอาชีพที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพประชากรในประเทศให้สูงขึ้น ทั้งนี้นอกจากครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ แล้วและปลูกฝังการมีระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์แล้ว ครูยังได้รับการยกย่องจากสังคมให้เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติและแบบอย่างทางความคิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับอาชีพครูรวมถึงบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างยาวนานคือการเป็นหนี้เงินกู้ทั้งจากแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน กองทุน หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบต่างๆ

จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่าจากจำนวนข้าราชการครูกว่า 450,000 คนนั้นมีมูลค่าหนี้เงินกู้ถึงกว่า 1.2 ล้านๆ บาท ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้พยายามกำหนดมาตรการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ รวมถึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู เช่น การจัดทำโครงการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวปัญหาหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.46 เพศชายร้อยละ 49.54 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกต่อกลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.62 ระบุว่าตนเองรู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.07 ยอมรับว่าตนเองไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.31 ไม่แน่ใจ

สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ทำให้ข้าราชการครูต้องเป็นหนี้เงินกู้ได้แก่ การใช้เงินเกินตัวคิดเป็นร้อยละ 86.7 มีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ มากคิดเป็นร้อยละ 84.54 ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 82.63 ติดการพนัน/สุรา/ยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 79.55 และช่วยค้ำประกันให้ผู้อื่นคิดเป็นร้อยละ 76.97

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.9 เชื่อว่ากลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขการชำระเงินกู้ก่อนการตัดสินใจกู้เงิน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.83 เห็นด้วยว่าการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูจะส่งผลกระทบทำให้คุณภาพการศึกษาไทยลดลง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.85 มีความคิดเห็นว่าการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูจะส่งผลเสียกับภาพลักษณ์การเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมของคุณครูโดยรวม

ด้านความคิดเห็นต่อโครงการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.02 มีความคิดเห็นว่าโครงการเงิน การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ต่างๆ ได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.51 มีความคิดเห็นว่าโครงการเงิน การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ต่างๆของข้าราชการครูลงได้จริง

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูในระยะยาวระหว่างการลดดอกเบี้ยเงินกู้กับการควบคุมการกู้เงิน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.28 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดมาตรการควบคุมการกู้เงินมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.71 ระบุว่าควรกำหนดมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.01 ระบุว่าควรใช้ทั้งสองมาตรการควบคู่กัน

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.4 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจะไม่สามารถแก้ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ของข้าราชการครูได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.59 มีความคิดเห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.81 ไม่แน่ใจ

หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง