ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวเล็กน้อย หลังอุปทานอาจไม่ลดลงตามคาดการณ์

จันทร์ ๒๘ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๔:๑๐
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2562

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 - 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ม.ค. - 1 ก.พ. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านและรัสเซียอาจไม่ปรับลดลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน จากความร่วมมือของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในการลดกำลังการผลิตลงทั้งหมด 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดา นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียคาดว่าจะยังไม่ปรับเพิ่ม เนื่องจาก แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara ในลิเบียยังคงปิดทำการชั่วคราวอยู่

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังยุโรปเตรียมประกาศใช้ระบบการชำระเงินสำหรับซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาดูปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียว่าจะปรับตัวลดลงตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มโอเปกหรือไม่ หลังรัสเซียอาจเผชิญกับปัญหาแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบแข็งตัว หากทำการลดกำลังการผลิตในช่วงฤดูหนาว

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งชั้นหินดินดาน (Shale basin) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 62 จะปรับตัวสูงขึ้น 63,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ม.ค. 62 สู่ระดับ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- อุปสงค์น้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 นับเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกในปี 2562 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ร้อยละ 0.2

- อุปทานน้ำมันดิบจากประเทศผู้ผลิตหลักมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปกพยายามรักษาสมดุลน้ำมันดิบ โดยการปรับลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ประกอบกับ แคนาดาปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อแก้ไขปัญหาท่อขนส่งน้ำมันดิบไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara ในลิเบีย ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงไม่กลับมาดำเนินการ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบจากลิเบียปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่าน

- ติดตามสถานการณ์การพิจารณาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลา และตลาดน้ำมันดิบทวีปเอเชีย เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา โดยสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาเฉลี่ยราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดจากเวเนซุเอลา หากสหรัฐฯ ประกาศมาตราการคว่ำบาตรนี้ อาจส่งผลให้รายได้ของเวเนซุเอลาปรับตัวลดลง ทำให้จำเป็นต้องส่งออกน้ำมันดิบไปยังจีน อินเดีย หรือประเทศอื่นในทวีปเอเชียมากขึ้นแทน และมีความเป็นไปได้ที่เวเนซุเอลาจำเป็นต้องเสนอขายน้ำมันดิบต่อเอเชียในราคาที่ถูกลงอีกด้วย

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/61 ยูโรโซน รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 ม.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการถอนตัวของประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบอาจปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก ยุโรปเตรียมค้าขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านระบบการชำระเงินใหม่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก หลังผู้ผลิตกลุ่มโอเปกเผยโควต้าการลดกำลังการผลิตรายประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับลดกำลังการผลิตจนถึงเดือน มิ.ย. 62

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว