ชี้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน แนะรัฐ-องค์กร ร่วมหนุนมาตรการออมเงินอย่างเป็นระบบ

อังคาร ๐๒ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๕:๐๒
หากจะพูดถึงพฤติกรรมการใช้เงินในการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นทำงานนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การใช้เงินเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทั้งการท่องเที่ยว ความบันเทิง การซื้อสินค้าและใช้จ่ายด้านความสวยความงาม ล้วนแต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขหลังจากทำงานหาเงินได้ และถ้าเจาะไปในมุมมองเรื่องการวางแผนการออมเงินคนรุ่นใหม่วันนี้ มีวิธีคิดและเลือกออมเงินกันหรือไม่อย่างไร จากผลการศึกษาและวิจัยในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนการออมเงิน สัดส่วนการออมต่อเดือน รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างๆ จากผลการศึกษาสามารถนำมาปรับใช้ในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์แมนชั่น พร้อมข้อเสนอแนะภาครัฐและองค์กร ร่วมส่งเสริมและผลักดันมาตรการการออมอย่างมีแบบแผนจริงจังในบทความนี้

จากการศึกษาวิจัยในส่วนของพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ในส่วนของการใช้จ่ายต่อเดือนผู้ตอบแบบสอบถามมีการใช้จ่ายประมาณ 10,001–15,000 บาทมีมากที่สุดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาต่ำกว่า 10,000 บาท มี 25 เปอร์เซ็นต์ และรายจ่ายประมาณ 15,001–20,000 บาท อยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (รูปประกอบ 1) และเมื่อเจาะลงไปในส่วนของการใช้จ่ายให้กับตนเองของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 พบว่ามีการใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย มากที่สุด 51 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาใช้ในการท่องเที่ยว 47 เปอร์เซ็นต์ และใช้ด้านความบันเทิง (Entertainment) 39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความสวยความงาม (Beauty) อยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายใช้จ่ายเกี่ยวกับแฟชั่น 36 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ยังมีการจัดทำแผนการออมเงินและการลงทุนด้วยตนเองมากกว่าผ่านที่ปรึกษาด้านการวางแผนการเงิน โดยพบว่าส่วนใหญ่มีการวางแผนด้วยตนเองมากที่สุด 76 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาวางแผนผ่านบริการที่ปรึกษาด้านวางแผนทางการเงินขององค์กรต่างๆ เช่น ธนาคาร หรือบริษัทประกันภัย 19 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีการวางแผน อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดแน่นอน มีการออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมากที่สุดถึง 37 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาออมเงินประมาณ 10–20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ อยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ และออมเงินต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้อยู่ที่ 17 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาจำแนกตามรายได้ส่วนตัวต่อเดือนกับสัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ที่มีรายได้ 40,001 บาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนเงินออมมากกว่า 30เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และผู้ที่มีรายได้ 30,001–40,000 บาท จะมีสัดส่วนเงินออม 21–30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท และ 20,001–30,000 บาท จะมีสัดส่วนเงินออมต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ในขณะที่ผู้มีรายได้ 10,001–20,000 บาท นั้นไม่ได้กำหนดแน่นอนจะออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย (รูปประกอบ 2) ซึ่งจากผลการวิจัยส่วนนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ยังขาดแบบแผนและวินัยการออมเงินอย่างเป็นระบบ

สำหรับรูปแบบการออมและการลงทุนในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ออมผ่านเงินฝากประจำมากที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 34 เปอร์เซ็นต์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 26 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการออมและลงทุนเกี่ยวกับทองคำ 24 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นสหกรณ์ 20 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ทั้งนี้จากผลการวิจัยข้างต้น ในภาพรวมแสดงให้เห็นถึงแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบของภาครัฐที่มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการออมเงินและการลงทุน ซึ่งคนทำงานรุ่นใหม่ได้เกิดการตระหนักรู้และเกิดพฤติกรรมการออมเงินและการลงทุน ตามแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบของภาครัฐ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปในรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยงมากกว่าการฝากประจำและการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

แต่จากผลการศึกษาวิจัยนี้มีความน่าสนใจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจับตามอง โดยชี้ให้เห็นว่าคนทำงานรุ่นใหม่ส่วนใหญ่สัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้นไม่ได้กำหนดแน่นอน จะออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย ซึ่งในประเด็นนี้องค์กรสามารถช่วยภาครัฐและภาคธนาคารในการส่งเสริมการออมและการลงทุนให้กับคนทำงานได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งจะสะท้อนออกมาในลักษณะของความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการทำงานที่เต็มกำลังความสามารถ ลดการเกิดทุจริตในองค์กรและสร้างความผูกพันในระยะยาว โดย HR ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษา หาแนวทางช่วยวางแผนการออม ผลตอบแทนจากการออม รวมทั้งช่วยบริหารจัดสรรเงินออมให้สอดรับกับรูปแบบการใช้จ่ายและความจำเป็นทางการเงินของพนักงาน ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน หรือแม้แต่กระทั่งเข้าไปช่วยแก้ปัญหาทางการเงินของพนักงานที่ทำมาอยู่ก่อนแล้วเมื่อประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ซึ่งแนวโน้มนี้ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงมากเพราะจากผลการวิจัยคนรุ่นใหม่ อีกทั้งคนทำงานส่วนใหญ่ต่างก็คาดหวังอัตราเงินเดือนจากเดิมเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 บาท ประกอบกับผลสำรวจในปีพ.ศ. 2561 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า ระดับหนี้สินต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.78 แสนบาท (เทียบกับ 1.56 แสนบาท ในปี 2558) โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากที่อยู่อาศัยมากที่สุด รวมทั้งหนี้อื่นๆ เช่น หนี้จากการกู้ยืม หนี้จากสินเชื่อรถยนต์ หนี้จากบัตรเครดิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังมีข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐในการเร่งส่งเสริมการวางแผนจัดสรรเงินออมและการลงทุนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับเริ่มต้นทำงาน โดยออกมาตรการที่เป็นลักษณะเชิงบังคับให้มีการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยการหักเงินออมจากเงินเดือนเฉกเช่นเดียวกับการจ่ายเงินประกันสังคม ในส่วนขององค์กรควรจะหามาตรการด้านการบริหารจัดการ การออมเงินและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน เพื่อวางรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นให้กับพนักงาน

อย่างไรก็ตาม คนทำงานโดยส่วนใหญ่ถึงแม้จะไม่ได้กำหนดสัดส่วนการออมที่แน่นอนโดยจะเก็บออมหลังจากการใช้จ่าย ซึ่งตามหลักการควรใช้จ่ายหลังจากการออมเงิน โดยจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนการออมอย่างน้อยที่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการดีกว่าหากมีสัดส่วนการออมอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปต่อเดือน ทั้งนี้ควรจะต้องศึกษาเรียนรู้การวางแผนการออมเงินอย่างมีแบบแผน เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีเงินออมโดยอาจเริ่มต้นจากวิธีทำบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" เพื่อสร้างเงินออม เพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากนัก และนำเงินส่วนนั้นมาเก็บออมเงินแทน โดยการตั้งเป้าหมายของการออมเงินไว้ เพื่อใช้สำหรับอะไร เช่น เพื่อการศึกษาต่อ, เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือเพื่อใช้ในยามเกษียณ และเตรียมพร้อมอย่างมีแบบแผนรับสังคมสูงอายุ ทั้งนี้ คนทำงานรุ่นใหม่ต้องสร้างวินัยการออมให้เกิดขึ้นกับตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และต้องระลึกไว้เสมอว่าต้องสร้างรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย โดยรูปแบบการออมและการลงทุนนั้นมีมากมายหลายรูปแบบสามารถเลือกได้ตามความต้องการและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล บทความนี้หวังว่าคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 จะนำไปปรับประยุกต์ให้ชีวิตคุณมีแบบแผนมากขึ้นรับมือได้ทันทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง