ความไม่แน่นอนด้านการเมืองปรับตัวดีขึ้นหลังได้นายกฯ แต่รัฐบาลใหม่ยังคงมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า

จันทร์ ๑๐ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๑๕:๔๗
Event

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2019 รัฐสภาได้มีการออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผลปรากฎออกมาว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง

Analysis

การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า จึงมีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น โดยหากพิจารณาสถานการณ์ในตลาดหุ้นพบว่า ดัชนี SET มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 33.19 จุด ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 6 มิ.ย. 2019 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองที่มีมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐของหลายพรรคการเมืองจนถึงวันที่สภามีมติเลือกนายกฯ

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสทำให้การสานต่อนโยบายมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ (mega-projects) ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ และอากาศยาน รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะได้นายกฯ คนใหม่จากขั้วการเมืองเดิม แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการได้แก่

(1) เสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน สะท้อนจากเสียงในการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2019 ซึ่งการที่ทั้งสองฝ่ายมีเสียงใกล้เคียงกัน อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า โดยจากการสำรวจของสวนดุสิตโพล[1] พบว่าประชาชนที่ตอบคำถามกว่า 73.65% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี และมากถึง34.07% คิดว่ารัฐบาลจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปเนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับแรกของการประกอบธุรกิจในไทยตามความเห็นของผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจโดย WEF ปี 2017-2018 (รูปที่ 1)

(2) การประสานแนวนโยบายต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในมิติของความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย เนื่องจากหลายมาตรการของหลายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยวงเงินงบประมาณขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรหรือประกันรายได้เกษตรกร การให้เงินกับมารดาที่มีการตั้งครรภ์ การให้เงินดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุที่กำหนด และโครงการบ้านล้านหลัง เป็นต้น และยังรวมถึงนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงที่อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันและจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานในระดับสูง ดังนั้นแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ความไม่แน่นอนด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับที่สามตามรูปที่ 1 ในการประกอบธุรกิจที่ทำการสำรวจโดย WEF ในปี 2017-2018 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารจึงควรสร้างความชัดเจนด้านนโยบายทางเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอน และยังต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้จากโครงสร้างและสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน อีไอซีประเมินแนวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่อาจพิจารณาดำเนินการได้ มีดังนี้

(1) หากรัฐบาลใหม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควรเป็นนโยบายที่ผสมผสานระหว่างการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาและการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม โดยจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามภาวะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงอาจส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายควรเน้นช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหา เช่น ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่มีรายรับจากนักท่องเที่ยวลดลง และยังรวมถึงภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงติดลบต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังควรจัดทำนโยบายที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศหลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยแนวนโยบายควรเป็นมาตรการที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วและมีผลทวีคูณทางเศรษฐกิจในระดับสูง (multiplier effect) แต่จะต้องไม่มีผลผูกพันในระยะยาวเพื่อป้องกันการสร้างภาระทางการคลังในอนาคต และไม่ควรมีการบิดเบือนกลไกตลาดที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะไม่มีการปรับตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของตนเองเพื่อการพัฒนาในระยะยาว

(2) รัฐบาลใหม่ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (mega-projects) ให้เป็นไปตามแผน ทั้งในส่วนของโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินการและโปรเจกต์ในแผนงานที่ยังไม่ได้มีการประมูล เนื่องจากจะมีผลดีในระยะสั้นผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี รวมถึงการเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะสงครามการค้า นอกจากนี้ ยังมีผลดีในระยะยาวด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย และยังมีแนวโน้มช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ในส่วนอื่น ๆ ของประเทศนอกจากเขตเมืองใหญ่เพียงไม่กี่เมืองในปัจจุบัน ทั้งนี้ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขต EEC ก็ควรมีการจัดทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงของภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกที่เข้าข่ายเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้มาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น และยังอาจใช้ประโยชน์จากภาวะสงครามการค้าในการเชิญชวนบริษัทชั้นนำที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้อีกด้วย

(3) ปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถของแรงงานในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยมีกำลังแรงงานลดลง ขณะที่ มีประชากรวัยชรามากขึ้น ดังนั้นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป ก็คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยจากงานศึกษาของอีไอซี[2] พบว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพแรงงานคือการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและสามารถนำมาใช้งานได้จริงมากขึ้น โดยภาครัฐและมหาวิทยาลัยจะต้องร่วมมือกันวางแผนผลิตนักศึกษาในสายที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น (demand-driven) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาskill mismatch ที่เป็นปัญหาของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรมีการสนับสนุนสร้างทักษะแรงงานผ่านการศึกษาแบบlifelong learning เนื่องจากในปัจจุบัน วิทยาการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนผ่านเงินอุดหนุนบางส่วนให้กับบริษัทเอกชนที่มีการจัดอบรม หรืออาจอุดหนุนให้กับประชาชนโดยตรงในการเข้าฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะตนเอง

(4) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยจากรูปที่ 2 พบว่า ความแตกต่างระหว่างระดับหนี้เสีย (NPL) ของ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายสาขามีค่าสูงขึ้นกว่าค่าในอดีต ซึ่งอาจสรุปได้ว่าความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ลดลงเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานในระดับสูง โดยควรพิจารณาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแก่ SMEs เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และมีการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการกระจุกตัวของตลาด (market concentration) โดยเฉพาะส่วนที่เกิดจากการเอื้อประโยชน์โดยรัฐหรือการแข่งขันโดยรัฐเอง รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินในการทำธุรกิจของSMEs อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง