กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ชะลอการเพาะปลูก หลังมีแนวโน้มฝนตกทิ้งช่วง ด้านฝนหลวงฯ เกาะติดสถานการณ์พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ง

ศุกร์ ๑๒ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๕๒
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือน สิงหาคม - กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ น้อยตามไปด้วย จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำของตัวเองเพื่อป้องกันความเสียหายจากปัญหาขาดแคลน้ำ อีกทั้งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เคยรายงานและประกาศให้เกษตรกรเตรียมเฝ้าระวังไปแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกในช่วงนี้จึงอยากขอให้ชะลอการปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์กระจายตัวของฝนปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงการประสบปัญหาดังกล่าว ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (11 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์ฝนตกน้อยว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทำการสูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด

สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อาทิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ จ.มหาสารคาม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากห้วยกุดกู่ ผันน้ำไปลงที่ห้วยวังฮาง เพื่อสูบต่อไปยังโรงสูบน้ำดิบของเทศบาลตำบลเมืองบัว ช่วยเหลือการประปา-ส่วนภูมิภาค อ.เกษตรวิสัย นำไปผลิตน้ำประปา , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณปลายคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี , การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวกว่า 50,000 ไร่ ในเขต อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท , อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง อ.เมือง จ.ลพบุรี และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าแนะ อ.ศรีบรรพต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่ ต.เขาย่า อ.ศรีบรรพต และ ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน เป็นต้น

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย กระจายทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 3 หน่วย คือ เชียงใหม่ ตาก และพิษณุโลก ภาคกลาง 2 หน่วย คือ ลพบุรีและกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 1 หน่วย คือ สระแก้ว และภาคใต้ 1 หน่วย คือ สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา กรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดกว่า 3,300 เที่ยวบิน ถือเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้ปฏิบัติการอย่างเต็มประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วพื้นที่ที่ต้องการฝน และยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อดัดแปรสภาพอากาศให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการดูแลพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ แบ่งเป็น เป็นพื้นที่ชลประทาน 35 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนกว่า 110 ล้านไร่ โดยในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน พร้อมทั้งบูรณาการด้านข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและความชื้นในดินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการวางแผนให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในแต่ละวัน นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังได้มีการพัฒนาแผนที่ความต้องการน้ำ โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากพื้นที่ที่เกษตรกรร้องขอ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดของพืช และช่วงอายุของพืชในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4