รายได้จากธุรกิจหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังคงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของผลประกอบการไตรมาสที่ 2/62 ของระบบธ.พ.ไทย

พุธ ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๑:๔๓
ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะอยู่ที่ประมาณ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2562 ลดลงจากกำไรสุทธิที่ 5.259 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2562 โดยกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 อาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ยังคงรอจังหวะการฟื้นตัวที่ชัดเจนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเลื่อนเวลาออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ จังหวะการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถบริหารจัดการปัญหานี้ได้ ซึ่งทำให้คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธ.พ.ไทย และสาขาธ.พ. ต่างประเทศ) หรือ NPL ratio ในไตรมาส 2/2562 อาจขยับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยมาที่กรอบ 2.94-2.96% จากระดับ 2.94% ในไตรมาส 1/2562

รายได้จากธุรกิจหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังคงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2562 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย[1] แม้ว่าผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่กดดันมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 น่าจะเริ่มบรรเทาลง

แม้ในไตรมาส 2/2562 จะไม่มีแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อเหมือนในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อธ.พ. ไทยอาจจะยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.7-4.9% ในไตรมาส 2/2562 จากที่เติบโต 5.4% ในไตรมาสแรกของปี ตามสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็เริ่มชะลอลงหลังมาตรการ LTV ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2562 เป็นต้นมา

อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อาจจะชะลอลงในไตรมาส 2/2562 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.85-2.87% เมื่อเทียบกับ NIM ที่ 2.93% ในไตรมาสที่ 1/2562 ซึ่งมีแรงหนุนพิเศษจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของลูกหนี้ NPL จากการขายหลักประกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรอบคาดการณ์ NIM ในไตรมาส 2/2562 ดังกล่าว ยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ NIM ในไตรมาส 1/2562 ที่หักผลของปัจจัยพิเศษออกไป โดยคาดว่า ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ จะยังสามารถชดเชยต้นทุนเงินฝากที่ธ.พ. ต้องทยอยรับรู้ หลังจากที่ธ.พ.บางแห่งมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์พิเศษบางรายการ

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ โดยหากไม่นับปัจจัยพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนแล้ว คาดว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจากส่วนอื่นๆ รวมถึงรายได้สุทธิจากธุรกิจประกัน น่าจะเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับในไตรมาส 2/2562 ยังมีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ว่าแรงฉุดจากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินจะทยอยลดลงในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

ทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับประเด็นด้านคุณภาพหนี้ของธ.พ. และทำให้ธ.พ. หลายแห่งยังคงส่งสัญญาณบริหารจัดการ ติดตามและดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธ.พ.ไทย และสาขาธ.พ. ต่างประเทศ) หรือ NPL Ratio มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 2.94-2.96% ในไตรมาส 2/2562 สูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.94% ในไตรมาส 1/2562

อย่างไรก็ดี เนื่องจากธ.พ. หลายแห่งมีการตั้งสำรองฯ ส่วนเกินในระดับสูง ทำให้คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจทรงตัวที่กรอบ 1.10-1.14% ในไตรมาส 2Q/2562 จาก 1.09% ในไตรมาส 1Q/2562

จากทิศทางดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของระบบธ.พ. ไทย ยังสามารถประคองความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในไตรมาส 2/2562 ซึ่งในไตรมาสนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่มาเพิ่มแรงกดดันเหมือนในไตรมาสแรก ขณะที่คาดว่า การบริหารจัดการด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ อาจจะช่วยทำให้ระบบธ.พ.ไทยสามารถบันทึกกำไรสุทธิในกรอบประมาณ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2/2562 (ไม่นับรวมรายการพิเศษที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การบันทึกกำไรจากเงินลงทุน) ชะลอลงไม่มาก เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 5.236 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2/2561

Disclaimer

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

[1] ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ วว. ผนึกกำลัง มรภ.เพชรบุรี พัฒนา วทน. ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าพืชผลเกษตร-สร้างระบบนิเวศงานวิจัย
๑๗:๒๙ กทม. แจงจ้างเหมาเอกชนซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองช่องนนทรี หลังสิ้นสุดระยะเวลาค้ำประกัน
๑๗:๔๖ ออปโป้ชวนด้อมไทยส่งข้อความสู่ Boost Your Dreams Box เตรียมต้อนรับ 3 หนุ่ม BSS สู่งาน Boost Your Dreams Together 2
๑๗:๔๒ นนท์ ธนนท์ - อิ้งค์ วรันธร นำทัพศิลปินขี้เหงา มาฮีลใจ ชวนคนเหงาปล่อยจอย ใน LONELY LOUD FEST เปิดจองบัตร Early Bird 30 ก.ค.
๑๗:๕๙ มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง
๑๗:๒๘ โก โฮลเซลล์ ปักหมุดภาคใต้สาขาแรก ราไวย์ จ.ภูเก็ต แล้ว! ลุยอาณาจักรค้าส่งวัตถุดิบอาหาร สร้างฟู้ด พาราไดซ์
๑๗:๓๗ How to เริ่มต้นวางแผนซื้อบ้าน/คอนโดฯ อย่างไรให้มั่นใจยุคดอกเบี้ยสูง
๑๗:๒๐ โรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ฉลองเทศกาลวันแม่ ส่งแคมเปญ ชวน ฮักแม่ ด้วยภาษารัก
๑๗:๔๔ เลือกฟิล์มติดกระจกออฟฟิศยังไงให้คุ้มค่าในระยะยาว ?
๑๗:๒๒ 5 เคล็ดลับเลือก Clinic เสริมความงาม ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน