การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เผยไลฟ์สไตล์รักสุขภาพอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์

พฤหัส ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๓๕
บรรดาผู้เชี่ยวชาญร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อก่อโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงความก้าวหน้าของการตรวจเลือดเพื่อหาโรค

ผลวิจัยที่นำเสนอในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2562 หรือ Alzheimer's Association International Conference (AAIC 2019) ที่ลอสแองเจลิส แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการใช้ชีวิตที่ใส่ใจสุขภาพมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพสมอง และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์

ผลวิจัยที่ก่อให้เกิดความหวังดังกล่าวเป็นหนึ่งในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่นำเสนอในการประชุม ซึ่งมีการใช้แนวทางที่หลากหลายในการหาสาเหตุ การพัฒนาของโรค ปัจจัยเสี่ยง การรักษา และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ

ข้อมูลใหม่อื่นๆ ที่นำเสนอในการประชุมมีดังนี้

- ความก้าวหน้าในการตรวจเลือดซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงยกระดับการวินิจฉัยให้ดีขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการรับคนไข้เข้าร่วมการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมอื่นๆ และโรคการเสื่อมของระบบประสาท

- ชีววิทยาของโรคอัลไซเมอร์ที่แตกต่างกันตามเพศ ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดผลกระทบของโรคอัลไซเมอร์ที่มีต่อผู้ชายและผู้หญิงจึงแตกต่างกันมาก

- ผลวิจัยและข้อมูลใหม่จากการทดลองทางคลินิก เพื่อประเมินแนวทางใหม่ๆ ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

การประชุมนี้เป็นเวทีระดับโลกสำหรับแลกเปลี่ยนประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับการวิจัยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม สำหรับปีนี้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่านได้มาร่วมนำเสนอมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่มีต่อโรคอัลไซเมอร์

ดร. Maria C. Carrillo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าวว่า "ขณะที่เรายังคงหาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อเยียวยาอาการของโรค รวมถึงกำหนดเป้าหมายใหม่ๆ ในการรักษา"

"ข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกที่นำเสนอในการประชุมปีนี้สะท้อนความหลากหลายของแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีที่ดีกว่าเดิมในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หลายล้านคน"

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ เป็นการประชุมประจำปีเวทีสำคัญสำหรับนำเสนอและอภิปรายงานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม การประชุมในปีนี้พาโลกเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น โดยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยระดับแนวหน้ากว่า 6,000 คนจากทั่วโลก และมีการนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์กว่า 3,400 รายการ

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้

ผลวิจัยใหม่ที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการใช้ชีวิตที่ใส่ใจสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และการกระตุ้นความคิด อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้ โดยงานวิจัยหนึ่งชี้ว่า ผู้ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตความเสี่ยงต่ำ 4-5 ประการ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่า 60% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตความเสี่ยงต่ำเพียง 1 ประการหรือไม่มีเลย

อีกสองงานวิจัยบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างจริงจังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยรายงานหนึ่งชี้ว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์จากกรรมพันธุ์สูงแต่ใช้ชีวิตอย่างใส่ใจสุขภาพ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคสมองเสื่อมลดลง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ ขณะที่รายงานอีกฉบับยืนยันว่า การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงสูงวัยที่สมองมีศักยภาพการทำงานสูง (วัดจากคะแนนการทำงานของสมอง ระยะเวลาที่เรียนหนังสือ หน้าที่การงาน และกิจกรรมทางกายภาพ) มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์จากสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเพียง 21% เมื่อเทียบกับผู้ที่สมองมีศักยภาพการทำงานต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 113%

การตรวจเลือดอาจช่วยยกระดับการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์

ข้อมูลจากการประชุมยังเผยให้เห็นความก้าวหน้าของการตรวจเลือดเพื่อหาข้อบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์และโรคการเสื่อมของระบบประสาทอื่นๆ เช่น การตรวจหาความผิดปกติของโปรตีนแอมีลอยด์ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้สำคัญของโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงการตรวจหาโปรตีนแอลฟาไซนิวคลีอิน (บ่งชี้โรคสมองเสื่อมจากลิววี่บอดี้) และการตรวจหาโปรตีนนิวโรฟิลาเมนต์ไลต์ (บ่งชี้ความเสียหายของเซลล์สมอง)

ทั่วโลกต่างต้องการเครื่องมือวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ที่เชื่อถือได้ ราคาไม่แพง ใช้ง่าย ไม่ทำให้เกิดแผล และหาซื้อง่าย ครอบครัวของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจะได้ประโยชน์อย่างมากจากเครื่องมือเช่นนี้ เนื่องจากจะช่วยให้ตรวจพบโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เทคโนโลยีการตรวจโรคแบบใหม่ที่กำลังพัฒนาโดยนักวิจัยในภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ สามารถนำมาใช้ติดตามผลการรักษาในการทดลองทางคลินิกได้เช่นกัน

ความเสี่ยง การพัฒนาของโรค และการหายจากโรคอัลไซเมอร์แตกต่างกันตามเพศ

ผลวิจัยยังระบุถึงชีววิทยา การพัฒนาของโรค และความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยงานวิจัยสี่ฉบับระบุข้อแตกต่างระหว่างเพศที่อาจเผยให้เห็นรูปแบบความเสี่ยงเฉพาะตัว และช่วยให้วงการแพทย์เข้าใจสาเหตุที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

งานวิจัยสองฉบับพบ 11 ยีนเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เฉพาะเพศ รวมถึงการเชื่อมโยงเชิงโครงสร้างและการทำงานในสมองของผู้หญิงที่อาจมีส่วนเร่งให้เกิดความผิดปกติของโปรตีนเทา ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะความจำเสื่อมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ งานวิจัยอีกฉบับชี้ว่าผู้หญิงมีระดับการใช้พลังงานสมองสูงกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีระบบความจำคำพูด (verbal memory) ดีกว่าผู้ชาย และสามารถชดเชยการเปลี่ยนแปลงในสมองจากโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น

งานวิจัยฉบับที่สี่พบว่าผู้หญิงที่เข้าสู่ระบบแรงงานแบบมีค่าจ้างในช่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยกลางคน มีอัตราการสูญเสียความทรงจำช้ากว่าในช่วงบั้นปลายชีวิตเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน

การทดลองแนวทางใหม่ๆ ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

ในการประชุมครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้รายงานผลการทดลอง SNIFF เฟสที่ 2/3 ระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งประเมินการใช้ยาพ่นจมูกอินซูลินรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือความทรงจำบกพร่องเล็กน้อย ซึ่งผลปรากฏว่า ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลอง 40 กว่าคนที่ใช้อุปกรณ์พ่นจมูกแบบดั้งเดิม ผู้ที่ได้รับอินซูลินมีคะแนนทดสอบความจำและการทำงานของสมองดีกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก ทว่าไม่พบผลเช่นนี้ในกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์พ่นจมูกแบบอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีแต่ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

งานวิจัยอีกฉบับรายงานความคืบหน้าของการทดลอง GAIN เฟสที่ 2/3 ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นการทดลองใหญ่ระดับนานาชาติครั้งแรกที่ประเมินแนวทางการรักษาจากข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่า แบคทีเรียพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส ซึ่งมักเชื่อมโยงกับโรคเหงือก สามารถทำให้สมองติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยการทดลอง GAIN ได้เริ่มรับสมัครผู้ป่วย 570 คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว

นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการเผยความคืบหน้าของการศึกษาว่าด้วยการปกป้องสุขภาพสมองผ่านการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยง (U.S. POINTER) ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมระยะเวลาสองปีเพื่อประเมินว่าการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะสามารถรักษาการทำงานของสมองในผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ การศึกษา U.S. POINTER กำลังดำเนินการในศูนย์วิจัยสี่แห่งในสหรัฐ และกำลังจะมีแห่งที่ห้าในเร็วๆนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองอายุ 60-79 ปี จำนวน 2,000 คน

การอภิปรายของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อก่อโรคอัลไซเมอร์

ในการประชุมครั้งนี้มีการอภิปรายแบบคณะในหัวข้อ "Emerging Concepts in Basic Science Series: Is There a Causative Role for Infectious Organisms in Alzheimer's Disease?" โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อก่อโรคอัลไซเมอร์

- นักวิทยาศาสตร์สองท่านอธิบายและยืนยันสมมติฐานที่ว่าเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ โดยอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบและการเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกัน

- นักวิจัยท่านหนึ่งชี้ว่า การตอบสนองของระบบผู้คุ้มกันต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในสมองอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสมอง รวมถึงการก่อตัวของแอมีลอยด์พลาก ซึ่งถือเป็นรอยโรคในสมองที่โดดเด่นของโรคอัลไซเมอร์ นักวิจัยท่านนี้แนะนำว่าโปรตีนแอมีลอยด์บีตาสามารถปกป้องสมองจากการติดเชื้อด้วยการดักจับเชื้อโรคในแอมีลอยด์

- นักวิทยาศาสตร์สองท่านตั้งคำถามเกี่ยวกับสมมติฐานของเชื้อก่อโรคอัลไซเมอร์ โดยได้แสดงความกังวลว่าสมมติฐานอาจ "เบี่ยงเบนความสนใจจากงานวิจัยที่มีผลกระทบมากกว่า"

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ นักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โฮมเพจของ AAIC 2019: www.alz.org/aaic/

ห้องข่าวของ AAIC 2019: www.alz.org/aaic/press.asp

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งสนับสนุนการดูแลรักษาและการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการกำจัดโรคอัลไซเมอร์ด้วยการวิจัยที่ทันสมัย รวมถึงดูแลและสนับสนุนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรค และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมผ่านการส่งเสริมสุขภาพสมอง เรามุ่งหวังที่จะเห็นโลกที่ปราศจากโรคอัลไซเมอร์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ alz.org หรือโทร. 800.272.3900

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/948584/Alzheimers_Association_International_Conference_2019.jpg

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/946686/Azheimers_Association_Logo.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง