IMF ลด GDP โลกปี 2019/20 เหลือ 3.2%/3.5% ตามภาวะการค้าการลงทุนโลกที่ยังชะลอต่อเนื่อง

พฤหัส ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๐๘:๔๒
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 ลงเล็กน้อยจากเดิม 3.3% เหลือ 3.2% โดยยังมีปัจจัยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกอีกค่อนข้างมาก ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน บทสรุป Brexit และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากการเติบโตของกลุ่มประเทศ EM แม้ว่า IMF ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงเล็กน้อยเหลือ 3.5% จาก 3.6% ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระยะต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น 2) มาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ไม่ทวีความรุนแรง และ 3) กลุ่มประเทศ EM สามารถประคองการเติบโตได้แม้ในช่วงที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง

Key points

IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2019 เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) นำโดยสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักรจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกเติบโตดีกว่าคาด โดย IMF ปรับการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรปี 2019 เพิ่มเป็น 2.6% (จากเดิม 2.3%) (รูปที่ 1) และ 1.3% (จากเดิม 1.2%) ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากปัจจัยชั่วคราวของการสะสมสินค้าคงคลังในช่วงไตรมาส 1 ปี 2019 สะท้อนว่า การบริโภคและการลงทุนส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะการชะลอตัวในการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ของภาคเอกชนและการบริโภคสินค้าคงทนของครัวเรือน เช่น รถยนต์ ทำให้ภาคการผลิตโดยรวมซบเซา อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ การคาดการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรตั้งอยู่บนสมมติฐานของบทสรุป Brexit ที่สามารถหลีกเลี่ยงการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) สำหรับการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีในกลุ่มประเทศ DM คาดว่าจะชะลอลงในประเทศที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศสูง เช่น เยอรมนีและญี่ปุ่น เนื่องจากการค้าโลกที่ชะลอตัวจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าและการลงทุนโลก ในขณะที่ กิจกรรมของภาคบริการยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งนี้ในปี 2020 กลุ่มประเทศ DM มีแนวโน้มขยายตัวลดลงเป็น 1.7% จากปี 2019 ที่ 1.9% จากผลของปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่ แรงกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ หมดไป

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอลงหลังจากการขึ้นภาษีผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2019 และการขยายตัวของกำลังการผลิตที่ลดลงในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น

แต่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ (EM) ในปี 2019 ลง โดย IMF ได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อินเดียและบราซิลในปี 2019 ลงเป็น 6.2% (จากเดิม 6.3%), 7.0% (จากเดิม 7.3%) และ 0.8% (จากเดิม 2.1%) ตามลำดับ สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อเนื่องกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นทั้งนโยบายการเงินและการคลังจากภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตที่ราว 6.2% และ 6% ในปี 2019 และ 2020 ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มประเทศที่ถูกปรับลดลงมากที่สุด คือ กลุ่มลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางซึ่งมาจากปัจจัยเฉพาะภูมิภาคที่ยังเผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาร์เจนติน่า เวเนซุเอลา และอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ สำหรับปี 2020 คาดว่า เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM จะกลับมาขยายตัวราว 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2019 ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ และภาวะการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนไม่ทวีความรุนแรง

IMF ชี้นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมีความจำเป็นในการช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะธนาคารกลางหลายประเทศที่ยังมีช่องว่างในการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี IMF ชี้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินควบคู่ไปด้วย จากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน และนโยบายการคลังที่อยู่บนพื้นฐานวินัยทางการคลังที่เหมาะสมควรมีส่วนสนับสนุนการสร้างศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

Implication

เศรษฐกิจโลกในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มชะลอลง ในขณะที่ ภาคบริการยังขยายตัวได้และมีส่วนช่วยพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ กระทบความเชื่อมั่นในภาคการผลิตโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปี 2018 หลังการเริ่มต้นมาตรการกีดกันการค้า และดัชนี PMI ย่อยในหมวดคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกก็ชะลอลงเช่นเดียวกัน (รูปที่ 2) เนื่องจากความต้องการสินค้าเพื่อการลงทุนและสินค้าคงทนชะลอตัวลง ขณะที่ ภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวได้สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคบริการที่อยู่เหนือเกณฑ์ขยายตัวที่ 50 ทำให้ตลาดแรงงานในเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่ง และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในหลายด้านยังเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และในปี 2020

- ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยียังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตและการเติบโตเศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2018 มีผลกระทบต่อการค้าและภาคอุตสาหกรรมการผลิตโลกในวงกว้าง (รูปที่ 3) แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนได้กลับมาเริ่มต้นการเจรจาการค้าใหม่อีกครั้งหลังการประชุม G20 นอกรอบในปลายเดือนมิถุนายน และสหรัฐฯ ประกาศไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในมูลค่าที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ความเสี่ยงของสงครามการค้าและเทคโนโลยียังไม่หมดไป เห็นได้จากที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีอำนาจตัดสินใจขึ้นภาษีอย่างได้อย่างฉับพลัน โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2019 หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เพิ่มเติมจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่

ออกมาติดลบมากขึ้นในหลายประเทศ ส่งสัญญาณว่าภาคส่งออกโลกยังน่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ทำให้ต้องติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยเฉพาะในประเด็นข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจีนในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ยังคงต้องจับตาความคืบหน้าของมาตรการกีดกันทางภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ซึ่งสหรัฐฯ ได้เลื่อนการตัดสินใจภาษีดังกล่าวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้เกิดการเจรจาการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยการเจรจาการค้านั้นยังมีประเด็นที่ติดขัดอยู่บ้างโดยเฉพาะประเด็นพ่วงเรื่องการเปิดเสรีภาคเกษตรกรรมในสหภาพยุโรปและในประเด็นข้อกำหนดการแทรกแซงค่าเงินเพื่อการแข่งขัน (currency clause) กับญี่ปุ่น

- ความเสี่ยงของ No-deal Brexit เริ่มสูงขึ้นหลังจากนายบอริส จอห์นสันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปอย่างชัดเจนและความไม่แน่นอนการเจรจาในระยะต่อไปยังคงสูง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายบอริส จอห์นสันได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนนางเทเรซา เมย์ ที่ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยจุดยืนของนายจอห์นสันนั้นเปิดรับการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) มากกว่านายกรัฐมนตรีคนก่อน ซึ่งคาดว่าหลังการเข้าดำรงตำแหน่งนายจอห์นสันจะเดินหน้าเจรจาแก้ไขข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ เคยเจรจาไว้ก่อนหน้ากับสหภาพยุโรปเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง Irish Backstop ซึ่งเป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป) และไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) โดยเหลือเวลาเจรจาอีกเพียง 100 วันก่อนเส้นตายการออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม อย่างไรก็ดี ท่าทีของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มไม่สามารถประนีประนอมได้โดยง่ายและการเจรจาจะเต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากสหภาพยุโรปมีแนวโน้มไม่เปิดการเจรจาในประเด็นเรื่อง Irish Backstop กับสหราชอาณาจักรอีก ซึ่งหากไม่สามารถเจรจากันได้นายจอห์นสันเคยกล่าวไว้ว่า เขาจะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปตามกำหนดการเดิมแม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงก็ตามและจะไม่เลื่อนเส้นตาย Brexit อีก อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดกรณี No-deal Brexit ซึ่งอาจกดดันรัฐบาลนายจอห์นสันผ่านการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ และเปิดโอกาสให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปหรือการลงประชามติรอบสองได้ ทำให้บทสรุปของ Brexit ในระยะต่อยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก รวมถึงโอกาสการเกิด No-deal Brexit ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้ง

สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในระยะต่อไปด้วย

มุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอลงจากการหดตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2019 ใหม่ที่ระดับ 3.1% และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยและผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางทั้ง การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน (อ่านเพิ่มเติม 3Q19 In focus: Game of trade เตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทย ในศึกชิงมหาอำนาจทางการค้าสหรัฐฯ-จีน) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในจากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะกลับมาทยอยฟื้นตัวหลังการสานต่อนโยบายของภาครัฐ และการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีสูง แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง อีไอซีคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ในปี 2019 อย่างไรก็ตาม หากการส่งออกไทยหดตัวมากกว่าคาดและทำให้ GDP โตต่ำกว่า 3% อีไอซีเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นที่กนง. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดย : ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ ([email protected])

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ([email protected])

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว