ข้อเสนอหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อนโยบายรัฐบาล เรื่อง อัตราค่าจ้าง

ศุกร์ ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๕๒
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้นำเสนอนโยบายเร่งด่วนด้านแรงงาน ดังนี้

"การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลราคาสินค้าไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และสามารถจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ และเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี"

โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง "ค่าจ้างแรกเข้า" เป็นไปตามที่หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เคยนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำอย่างที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยนโยบายดังกล่าว จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย รวมทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของแรงงานและประชาชนดีขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล ได้มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400-425 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความสับสนและความกังวลใจต่อทุกภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทั่วไป (มีความเป็นห่วงว่าค่าครองชีพจะสูงขึ้น) ต่างมีเสียงสะท้อนแสดงความไม่เห็นด้วย จนมีการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมและความถูกต้องถึงวิธีการที่ได้มาของการใช้อัตราค่าจ้างตามกระแสข่าว

จากเหตุดังกล่าว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากสมาชิกทั่วประเทศ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด หอการค้าต่างประเทศ 35 ประเทศ สมาคมการค้า 138 สมาคม สมาชิกผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,355 กลุ่มครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ผลการสำรวจเป็นการยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 93.9 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400 บาทต่อวันตามกระแสข่าว โดยมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถามตามเอกสารแนบ

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงขอนำเสนอข้อคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล เรื่อง อัตราค่าจ้าง ดังนี้

1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ควรยึดตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ควรมาจากการสรรหาที่แท้จริง และควรเป็นองค์กรอิสระที่สามารถดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์

นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)

2) การปรับอัตราค่าจ้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลควรมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติก่อนที่จะมีการพิจารณาประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างทุกครั้ง

3) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

4) การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงโดยทันที จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบ และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวน 3,046,793 ราย โดยปี 2560 สร้างมูลค่าให้ประเทศ 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.4 ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.) เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานเดิม พนักงานรายเดือน กลุ่มพนักงานราชการ และพนักงานของรัฐในตำแหน่งต่าง ๆ ด้วย

5) การปรับอัตราค่าจ้างที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตาม (เนื่องจากมีการใช้แรงงานในทุกห่วงโซ่ของเศรษฐกิจ)

6) การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้กระทรวงแรงงาน เร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม (ปัจจุบันมี 241 สาขา)

7) รัฐบาลควรเร่งกำหนดใช้ "อัตราค่าจ้างแรกเข้า" ในการประกาศใช้อัตราค่าจ้างครั้งต่อไปแทน "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ทันที ตามนโยบายเร่งด่วนเรื่อง การยกระดับศักยภาพของแรงงาน และควรกำหนดนิยามของ "อัตราค่าจ้างแรกเข้า" ที่ชัดเจน

หลังจากกำหนดใช้อัตราค่าจ้างแรกเข้าแล้ว กระทรวงแรงงานต้องเร่งจัดทำโครงสร้างกระบอกเงินเดือนมาตรฐาน ที่สัมพันธ์กับค่าจ้างแรกเข้าของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ละภาคส่วนที่ใช้แรงงาน และส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถนำไปใช้ปรับค่าจ้างประจำปีให้เหมาะสมกับการจ้างงานได้

8) รัฐบาลควรส่งเสริม การจัดอบรม และมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill Re-Skill และ New-Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเพื่อมุ่งไปสู่การปรับค่าจ้างตามโครงสร้างกระบอกเงินเดือน

ท้ายที่สุดนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาชิกผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพของแรงงาน รวมทั้งรายได้ของแรงงาน เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของภาคผู้ใช้แรงงานทั้งหมด การปรับขึ้นค่าจ้างควรคำนึงถึง ทักษะฝีมือแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ อัตราค่าครองชีพ ยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และควรเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง