เปิดหลักสูตรอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติครั้งแรก ติวเข้มช่างแอร์-ตู้เย็น ใช้ปลอดภัย ลดโลกร้อน

พุธ ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๔๓
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมเปิดตัวการอบรม "การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย" ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. เพื่อฝึกอบรมช่างให้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้และติดตั้งสารทำความเย็นธรรมชาติในแอร์และตู้เย็นอย่างถูกต้อง ปลอดภัย นำไปสู่การลดการใช้พลังงานและลดภาวะโลกร้อน

การฝึกอบรม "การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย" เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ ภารกิจของโครงการฯ คือ การสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโครงการฯ คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภาคบริการในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างปลอดภัย ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ (RAET) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. จัดหลักสูตรการฝึกอบรมนี้ เพื่อให้ผู้ฝึกอบรมหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดย RAET จะให้ความรู้และเทคนิคด้านการใช้งานของสารทำความเย็นธรรมชาติที่ปลอดภัย นอกจากนี้ มจพ. ยังได้รับเงินทุนจากกองทุน RAC NAMA ที่บริหารโดย กฟผ. มาสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกอบรมสำหรับจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ขณะที่ GIZ จะสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

นางมาร์กาเร็ต ทังก์ อุปทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านนโยบายและมาตรการทางการเงินจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่าน NAMA Facility ให้มาริเริ่มโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อยกระดับสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และในพิธีเปิดการฝึกอบรมวันนี้ เรากำลังตอกย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ "Green Cooling" ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย ความมุ่งมั่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของเราในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (net-zero) ในสหราชอาณาจักรรวมถึงในระดับนานาชาติ ที่เราได้ร่วมมือกันอยู่ อย่างเช่น ประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินจำนวนครึ่งล้านยูโร (ประมาณ 17 ล้านบาท) เราจะพัฒนาแรงงานช่างให้มีทักษะ และสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ " Green Cooling" ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก"

นายยาน แชร์ อัครราชทูตและอุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศเยอรมนีได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ในด้านทักษะทางวิศวกรรมที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องกลและไฟฟ้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อ 60 ปีที่แล้ว มจพ. เป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคที่ก่อตั้งโดยโครงการอาชีวศึกษาของเยอรมนีและยังคงเป็นสถาบันชั้นนำด้านการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษาจนถึงปัจจุบัน"

"นอกจากเราจะสนับสนุนในภาคการศึกษา โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพของการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาในประเทศไทยแล้ว เรายังมุ่งเน้นในเรื่องการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในประเทศไทย และการหลีกเลี่ยงการใช้สารอันตรายที่ดำเนินการไปแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเราจึงต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการทำความเย็นในภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศตัวอย่างที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน" นาย ยาน แชร์ กล่าวเสริม

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. กล่าวว่า "มจพ.มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการให้ความรู้ คุณธรรมและความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เราตระหนักดีว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ด้วยเหตุนี้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ "Green Cooling" จึงถูกหยิบยกให้เป็นเทคโนโลยีสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านความรู้เชิงเทคนิคและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนการจัดฝึกอบรมจากโครงการ RAC NAMA เราวางแผนที่จะฝึกอบรมครูฝึกภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นและหัวหน้าช่างในประเทศไทย ให้สามารถใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสากลและสามารถเผยแพร่ความรู้ไปสู่ช่างเทคนิคคนอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อที่ว่าเราจะได้มีครูฝึกที่มีคุณภาพมากขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และพร้อมก้าวสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน"

รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชาญ ทองจับ หัวหน้าโครงการและหัวหน้า RAET วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า "ในการอบรมนี้ เราจะแนะนำการใช้สารทำความเย็น R290 สำหรับเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การใช้ R290 ยังสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25 และมีคุณสมบัติการถ่ายเทความร้อนที่ดีเยี่ยม นำไปสู่การพัฒนาเครื่องปรับอากาศคุณภาพสูง ที่ประหยัดพลังงานและช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้"

"หลักสูตรฝึกอบรมครั้งแรกนี้ จะมีครูฝึกช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจำนวน 16 คนเข้าร่วม ในการอบรมภาคทฤษฎี ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็นชนิดต่างๆ วัฏจักรระบบทำความเย็น ทฤษฎีการเชื่อม รวมไปถึงความเสี่ยงและข้อควรระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอนของการทำงาน เริ่มตั้งแต่การติดตั้ง การปฏิบัติงานเชื่อม การใช้งาน การตรวจสอบการรั่ว การติดฉลาก การรายงาน และการส่งมอบงาน รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่หาได้ในประเทศไทยอีกด้วย" รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชาญ กล่าวเสริม

นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "หลักสูตรการฝึกอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย ได้ถูกพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจาก GIZ และมจพ. นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่แรก และตามด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 2 สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง วิทยาลัยเทคนิคยโสธร วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 17 ระยอง ภายในปีพ.ศ. 2563 นี้โครงการ RAC NAMA ตั้งเป้าการจัดฝึกอบรมทั้งหมด 13 หลักสูตร โดยมีผู้ฝึกอบรมกว่า 200 คนทั่วประเทศไทย เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าโครงการฯ จะช่วยให้ผู้ฝึกสอนและหัวหน้าช่างในภาคอุตสาหรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็นเห็นประโยชน์ของ Green Cooling อย่างแท้จริงและเข้าใจวิธีใช้งานที่ปลอดภัย"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง