ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเปิดตัวโครงการ“ปักหมุดจุดเผือก” ชวนประชาชนร้องเรียนพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศผ่าน Chat bot #ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ รวบรวมข้อมูล ชงแนวทางแก้ไขต่อผู้ว่ากทม.-หน่วยงานรัฐสถิติเผยผู้หญิงไทย 86

จันทร์ ๑๖ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๐:๑๐
ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเปิดตัวโครงการ "ปักหมุดจุดเผือก" ชวนประชาชนร้องเรียนพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ ผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ รวบรวมข้อมูล ชงแนวทางแก้ไขต่อผู้ว่ากทม.-หน่วยงานรัฐ สถิติเผยผู้หญิงไทย 86 เปอร์เซ็นต์เคยถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนน พร้อมแนะวิธีสังเกต 8 ลักษณะพื้นที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาทิ ไม่มีแสงไฟ อยู่ห่างไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย มีสิ่งบดบังสายตาซึ่งมีโอกาสเป็นจุดซุ่มซ่อนตัวของคนร้าย ยกเคสตัวอย่าง เดอะ ฮายไลน์นิวยอร์ก ทำพื้นที่เสี่ยงให้เป็นเมืองปลอดภัย พร้อมเริ่มคิกออฟสำรวจ "สะพานเขียว" หวังสร้างเป็นตัวอย่างพื้นที่ต้นแบบ

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบไปด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (Action Aid) ,แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ,เครือข่ายสลัมสี่ภาค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), Shma SoEn , Urban Creature และ Big Trees ร่วมกับเครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดตัวโครงการ "ปักหมุดจุดเผือก" เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่ และร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวถึงการจัดกิจกรรม 'First Pin ปักหมุด จุดเผือก' ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย ว่าไม่ได้เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายต่าง ๆ ผ่านพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอยในชีวิตประจำวันของผู้หญิงก็เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่เรียกว่า street harassment มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นนอกจากจะสร้างความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะฉุดรั้งความก้าวหน้า ปิดโอกาสการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้หญิงในหลากหลายมิติด้วย

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่าสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้น ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ 1.เป็นซอยตัน ไม่มีเส้นทางอื่นให้เลือก 2.เป็นทางผ่านไปในจุดที่อับหรือเปลี่ยว 3.มีสิ่งบดบังสายตาซึ่งมีโอกาสเป็นจุดซุ่มซ่อนตัวของคนร้าย 4. เป็นพื้นที่ปิดคนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนรอบข้างมองไม่เห็น 5. ไม่มีแสงไฟส่องสว่าง หรือ แสงสว่างไม่เพียงพอ 6. ไม่มีป้ายบอกชื่อสถานที่หรือป้ายบอกทางทำให้คนนอกพื้นที่ไม่สามารถระบุจุดหรือตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ได้ชัดเจน 7. อยู่ห่างไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ไม่มีคนเดินทางสัญจรไปมา 8.ไม่มียามรักษาความปลอดภัยในจุดที่สมควร และ ไม่มีแหล่งขอความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย

"ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสทางสังคมของคนที่ต้องสัญจรไปมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่กับความเสี่ยง ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย หรือแย่กว่านั้น ถ้าเราเคยถูกคุกคามทางเพศ เราก็มีแนวโน้มที่จะจำกัดตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น คนที่ต้องออกจากบ้านไปทำมาหากินตั้งแต่เช้ามืด หรือเลิกงานดึก หรือบ้านอยู่ซอยลึก ก็ต้องทนอยู่แบบหวาดระแวง เครียด กังวล กลายเป็นว่าเขาเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย"ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าว

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม แบ่งเป็น 3 ช่วงหลักๆ โดยช่วงแรกเป็น workshop ที่อาสาสมัครทีมเผือกที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คนและตัวแทนชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยงใน กทม. ได้ร่วมเรียนรู้แนวคิดวิถีชีวิตคนเมืองกับความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ และวิธีสังเกตจุดเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะจากมุมมองของทีมสถาปนิก นักผังเมือง และขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเมือง จากนั้นจะได้ร่วมออกแบบและวางแผนการ "ปักหมุด จุดเผือก" เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยง และแบ่งกลุ่มเรียนรู้ปฏิบัติการทีมเผือกเพื่อสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปักหมุดจุดเผือกค้นหาจุดเสี่ยง

ช่วงต่อมาเป็นการนำสมาชิกทีมเผือกออกไปทดลองปักหมุดจุดเสี่ยงในพื้นที่จริงบนทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม-สวนเบญจกิตติ (สะพานเขียว) ร่วมกับชาวบ้านจากชุมชนซอยพระเจน ผู้อาศัยและใช้พื้นที่บริเวณทางจักรยาน และในช่วงสุดท้าย ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่ต้นแบบยักษ์ เพื่อแสดงเจตจำนงในการเป็นทีมร่วมค้นหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ กทม. เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการระแวดระวังภัยการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และให้ประชาชนได้ร่วมเป็นทีมเผือกในการเฝ้าระวังเพื่อช่วยสอดส่องในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อนำข้อมูล "จุดเผือก Map" เสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

"แม้หน้าที่การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะควรต้องเป็นความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่มีกำลังและศักยภาพมากพอที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัยในทุกพื้นที่ได้จริง เราเลยต้องระดมความร่วมมือจากภาคประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันทำให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัยมากขึ้น"ดร.วราภรณ์ระบุ

ด้าน น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะใกล้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ริมคลองหลอด และสนามหลวงในเวลากลางคืน ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความปลอดภัย ทั้งนี้องค์การแอ็คชั่นเอดได้จัดทำงานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยเจอเหตุการณ์ความรุนแรงจากการคุกคามทางเพศบนท้องถนนของเมืองใหญ่ โดยในประเทศไทยมีผู้หญิง 86 เปอร์เซ็นต์ที่เคยถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนน นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่ระบุว่ากรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

"ในต่างประเทศมีความพยายามสร้างความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะในต่างประเทศว่า ในออสเตรเลีย และอังกฤษ มีระบบแจ้งเหตุผ่านสายด่วนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งความฉับไว และการติดตามผล ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้วต้องตอบสนองทันที" ผู้จัดการโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยกล่าว

นายวสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่าโครงการ First Pin ปักหมุด จุดเผือกนี้ จะเป็นประโยชน์กับสังคม เพราะหากทราบว่ามีความเสี่ยงอยู่ที่ไหน ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบ 4.0 ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหา โดย NECTEC มีเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยในส่วนของแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุผ่านแชทบอทผ่านไลน์ได้ เวลาเจอปัญหา พบพื้นที่เสี่ยง ก็สามารถแจ้งเข้ามาได้เลย ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะประมวล และเก็บรวมรวมสภาพปัญหาต่างๆเข้ามาในระบบ โดยทุกคนสามารถใช้ได้ โดยแอดเฟรนด์ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ @traffyfondue และขอเชิญชวนทุกท่านหากเห็นความไม่ปลอดภัยของพื้นที่ไหนที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ขอให้ถ่ายรูปติดแอชแท็กทีมเผือกแล้วแจ้งเหตุปักหมุดมาในโปรแกรมของเราได้ทันที

ขณะที่นายยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา และฉมาโซเอ็น จำกัด กล่าวว่า การออกแบบมีส่วนช่วยได้ในการเปลี่ยนเมืองให้ปลอดภัย พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นเมืองปลอดภัย เช่น The High Line ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เมื่อก่อนเคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีปัญหาอาชญากรรม พอได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้คนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน และมีการออกแบบให้มีพื้นที่ที่มีระยะมองได้ทั่วถึง มีร้านค้า โรงแรม มีกิจกรรมเป็นระยะๆ เวลาผู้คนจะเดินไปไหนจะอยู่ในสายตาคนรอบๆ ตลอดเวลา มีจุดเข้าออก ไม่เป็นทางตัน ทำให้มีคนมาใช้ มีชีวิตชีวา และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งคดีอาชญากรรมก็จะลดลง และสามารถพิสูจน์ว่าเปลี่ยนย่านที่เคยมีปัญหาให้ดีขึ้นได้ ส่วนประเทศไทยเอง มีลานกีฬาพัฒน์ เคหะคลองจั่น ซึ่งในอดีตค่อนข้างเป็นที่รกร้าง มีคนเสพยา แต่พอเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็มีประชาชนเข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอ

ด้านนางนงลักษณ์ เจ้า มารดาของเยาวชนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายที่เคยถูกคุกคาม กล่าวว่า ภัยคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกิดขึ้นกับลูกสาวของตน โดยเมื่อปีที่ผ่านมาบุตรสาววัย 12 ปีถูกคุกคามทางเพศจากคนแปลกหน้า ขณะที่เดินจากโรงเรียนกลับบ้าน แต่ลูกสาวฮึดสู้ ป้องกันตัวเอง จนคนร้ายวิ่งหนีหายไป แม้จะตกใจและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีเพื่อไม่ให้คนร้ายลอยนวลและไปก่อเหตุกับใครอีก ซึ่งสุดท้ายศาลสั่งจำคุก เพราะพบว่าคนร้ายเคยก่อเหตุในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนใช้แอพพลิเคชั่น "ทีมเผือก" สำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่กทม. เพื่อช่วยกันลดการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะด้วย

ขณะที่ น.ส.สมโภช สง่าพล สมาชิกชุมชนซอยพระเจนซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่โครงการได้ร่วมสำรวจในครั้งนี้ กล่าวถึงจุดเสี่ยงของสะพานเขียวที่อยู่ในชุมชนว่า คนในชุมชนมีความกังวลเรื่องไฟส่องสว่าง ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีคนงานต่างด้าวมักจับกลุ่มมานั่งบนสะพาน บางครั้งก็ดื่มสุราไปด้วย ซึ่งคนที่ผ่านไปมารู้สึกได้ว่าถูกคุกคามทางสายตาจนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาสัญจรไปมา ส่วนตัวเห็นว่าพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่มีแสงสว่าง โล่ง แจ้ง ไม่มีคนมานอนข้างทางแบบนี้ และเชื่อว่าถ้ามีการติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอจะทำให้คนสัญจรมาไปรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจขึ้น และหากมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ก็จะดีขึ้นอีก เพราะคนที่จะก่อเหตุจะไม่กล้าก่อเหตุ เป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง

สำหรับวิธีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์chatbotทีมเผือก แอดเฟรนด์ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ @traffyfondue ซึ่งเมื่อแอดเฟรนด์แล้ว และเข้าไปในหน้าแชทข้อความระบุจะขึ้นขั้นตอนการแจ้งปัญหา ดังนี้ 1. พิมพ์#ทีมเผือกพร้อมทั้งพิมพ์ข้อความปัญหา 2. ส่งภาพปัญหา เมื่อระบบขอรูปภาพ 3. ส่งตำแหน่ง (Share Location) เมื่อระบบขอพิกัด 4. ระบบจะส่งข้อความแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง