เชื้อเพลิงชีวมวลจากใบอ้อย: พืชพลังงานทางเลือกจากเกษตรกรไทยเพื่อความยั่งยืนของสังคมไทย

อังคาร ๑๗ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๓:๓๐
สถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำในปีนี้ เป็นผลมาจากหลายๆปัจจัย ทั้งภัยแล้งที่ยาวนาน แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามมา

ในขณะที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือเป็นการด่วนทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต โครงการส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือมาตรการเพิ่มผลิตภาพชาวไร่อ้อยด้วยการทำเกษตรสมัยใหม่ (smart farming) ในระยะยาวแล้ว การสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบอ้อยจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน

จากการประเมินปริมาณอ้อยในปีนี้ คาดว่าหลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าหีบแล้วจะมีใบอ้อยสดเหลือทิ้งอยู่ในไร่ประมาณ 12 ล้านตัน ใบอ้อยเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรไทยได้ด้วยการนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล สร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้อย่างยั่งยืน แทนที่จากเดิมเกษตรกรจะกำจัดใบอ้อยเหลือทิ้งเหล่านี้ด้วยวิธีการเผา นำมาซึ่งปัญหาฝุ่นควันและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนตามมา จากปัญหาหลายๆ ด้านที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังประสบ การแปรรูปใบอ้อยสู่พลังงานไฟฟ้าชีวมวลจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่หลายๆ ฝ่ายเห็นร่วมกันว่าสมควรได้รับการผลักดัน

ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง

นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "สอน. มีพันธกิจหลักในการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เราจึงส่งเสริมการทำไร่เกษตรแบบสมัยใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลในการทำเกษตร เช่น การนำอุปกรณ์รถตัดอ้อย-สางอ้อยมาใช้เก็บเกี่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเก็บใบอ้อยนำไปขายทำเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการเผา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณค่าอ้อยได้สูงสุดแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ที่สำคัญยังลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความยั่งยืนทั้งในภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศตามมา"

ทั้งนี้ จากการคำนวนปริมาณใบอ้อยคงเหลือกว่า 12 ล้านตัน เมื่อนำไปขายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล ในราคาตันละ 500 บาท จะสามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาทกลับสู่เกษตรกรโดยตรง และยังก่อให้เกิดการจ้างงานจากการเก็บใบอ้อย สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มเป็นเม็ดเงินอีก 6,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12,000 ล้านบาทที่ถูกป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และจะนำไปสู่เม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า (ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 60,000 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ใบอ้อยเหล่านี้ เมื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 400 เมกะวัตต์ เพื่อขายเข้าสู่ระบบในระดับราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่ม จะสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า และแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ด้านนายไกรฤทธิ์ วงษ์วีระนิมิตร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง ในฐานะตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สนับสนุนแนวคิดนี้ กล่าวว่า "ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีการรณรงค์หยุดเผาอ้อย ถ้าพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากใบอ้อยที่ปกติพวกเขาจะเผาทิ้ง ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเลิกทำอ้อยไฟไหม้ ลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ลงได้ ในฐานะนายกสมาคมฯ ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยเผา และได้นำใบอ้อยไปขายให้โรงงานน้ำตาลทำเชื้อเพลิงชีวมวล ผมพยายามส่งเสริมให้พี่น้องชาวไร่อ้อยเลิกเผาและเปลี่ยนมาทำไร่เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้อีกมาก ผมเองก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผลผลิตอ้อยจากไร่ของเราถูกนำไปต่อยอดอย่างคุ้มค่า เป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่จะสร้างคุณค่าและความมั่นคงให้กับสังคม"

ขณะที่นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นแรงสำคัญในการผลักดันการต่อยอดคุณค่าผลิตภัณฑ์อ้อย กล่าวว่า "ตลอด 60 กว่าปีที่กลุ่มมิตรผลดำเนินกิจกรรมบนเส้นทางธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเคียงคู่วิถีชีวิตคนไทย เรายังได้สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันเราได้พัฒนาพลังงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้ภายในโรงงานของเราเอง โดยนำชานอ้อย ใบอ้อย และสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และไฟฟ้าส่วนหนึ่งยังขายให้กับภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ กลุ่มมิตรผลมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาครัฐในการขยายต่อห่วงโซ่มูลค่าของอ้อย รวมถึงการนำใบอ้อยเหลือทิ้งจากชาวไร่อ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร ชุมชนและสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย"

ด้วยเหตุนี้ ความสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ตลอดจนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อยเพิ่ม นอกจากจะสร้างความยั่งยืนทั้งในมิติภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสร้างประโยชน์ต่อหลายๆ ภาคส่วน ทั้งเกษตรกรชาวไร่อ้อย ชุมชน ภาคเอกชน ตลอดจนภาครัฐที่กำกับดูแลห่วงโซ่คุณค่านี้ ไม่ว่าจะเป็นต่อนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง นโยบายลดการเผาอ้อยของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและชาวไร่อ้อยโดยตรง แนวทางการทำเกษตรอย่างยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงพลังงานที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง