อว. อัดงบ 9.1 พันล้าน สร้างอาชีพ ลดบัณฑิตตกงาน

ศุกร์ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๓:๕๑
"สุวิทย์" มั่นใจผลงานก้าวแรก อว. มุ่งพัฒนารากฐานประเทศแข็งแกร่ง นำไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ชู 5 ประเด็นหลัก ปฏิรูปสังคมไทยไม่หยุดเรียนรู้ อัดงบ 9,100 ล้านบาท ผุดโครงการยุวชนสร้างชาติ สร้างอาชีพให้บัณฑิตใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ผนึกไมโครซอฟ์ท-หัวเหว่ย และ11บริษัทระดับประเทศ พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์ธุรกิจ ยกเครื่องมหาวิทยาลัย ปลดล็อกทุกข้อจำกัด พลิกโฉมสู่ท๊อป 100 ของโลก รุกปฏิรูปงานวิจัยหลังดันงบวิจัยขึ้นเป็น 1.1%ต่อ GDP ชี้ต้องตอบโจทย์ประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สร้าง GDP ประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวง อว. เป็นคนแรก และถือเป็นกระทรวง น้องใหม่ที่เริ่มก่อตั้งได้แค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยมีพันธกิจสำคัญในการมุ่งเน้นในการวางรากฐานประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อนำประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้ 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาคน, การวิจัยเพื่อสร้างความรู้, การสร้างและการพัฒนานวัตกรรม

โดยผลงานที่ได้ดำเนินการแล้วครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1.ปฏิรูปสังคมไทยไม่หยุดเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ โดยพันธกิจของ อว. ไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิตอย่างเดียวแต่ต้องครอบคลุมทุกช่วงวัย (Life Long Learning) เพราะโลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเปลี่ยน พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ตอบโจทย์ธุรกิจ แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน แต่บัณฑิตที่จบมากลับไม่มีงานทำ พัฒนาทักษะการทำงานเดิม (Re-skill Up-skill) สำหรับกลุ่มคนทำงาน จำนวน 38 ล้านคน ที่ได้ผลกระทบจากกระแสดิสรับชั่น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน มีบางส่วนที่อาจตกงาน ด้วยการจับมือ 11 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยและบริษัทระดับโลกอย่าง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการฝึกอบรมพัฒนาเพิ่มทักษะตัวเอง และบริษัท หัวเหว่ย สร้างกลุ่มสตาร์ทอัพร่วมกับมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 11 ล้านคน

นอกจากนี้ อว. ยังได้ทุ่มงบประมาณกว่า 9,100 ล้านบาท จัดทำโครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นโครงการที่จะเปิดโอกาสให้ นักศึกษานำความรู้ความสามารถออกไปช่วยพัฒนาชุมชน สร้างประสบการณ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่กันทั้ง 2 ฝ่าย แก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ โดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ คือ ยุวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และ บัณฑิตจบใหม่ แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย

กองทุนยุวสตาร์ทอัพ จัดตั้งกองทุนเริ่มต้นมูลค่า 600 ล้านบาท แบ่งเป็น อว. 100 ล้านบาท ออมสินสบทบเพิ่ม 500 ล้านบาท ในปี 2563 โดยนักศึกษาร่วมกับบุคลากร มหาวิทยาลัย พัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ระยะเวลา: 3-5 ปี โครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท ให้นักศึกษาจำนวนกว่า 10,000 คน ที่เรียนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์แบ่งกลุ่มละ 8-10 คน

ใช้เวลา 1 ภาคเรียน พักอาศัยในชุมชน เรียนรู้ จัดโครงการพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยจะ kick off ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการบัณฑิตอาสา งบประมาณ 8,000 ล้านบาท สร้างอาชีพให้บัณฑิตจบใหม่ จำนวนกว่า 50,000 คน ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชน ร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และช่วยเหลือบัณฑิตที่ตกงาน โดยกลุ่มเป้าหมาย บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลา 12 เดือน ภายในไตรมาส 1 ปี 2563

พร้อมเตรียมจัดงานแฟร์ที่รวบรวมอาชีพเด่น มุ่งสร้างอาชีพให้คนไทยทุกกลุ่ม ตั้งแต่ บัณฑิต คนทำงานและคนสูงอายุกว่าหมื่นอาชีพผ่านการจัดงานกิจกรรม อีกทั้งยังรวบรวมหลักสูตรต่างๆที่จะพัฒนาทักษะ วิชาชีพต่างๆ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์

2. สานพลังเอกชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ อว.จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำนวัตกรรมชุมชนลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ โครงการ "1 ไร่ 1 ล้านบาท" สร้างรายได้ เพิ่ม 10 เท่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลานิลหนาแน่นระบบปิด จากที่เลี้ยงในบ่อดินขนาด 1 ไร่ จำนวนปลาประมาณ 900 ตัว อัตราการรอดชีวิต 70-80% จะเพิ่มเป็น 6.4 หมื่นตัว ต่อไร่อัตราการรอด ชีวิตสูงกว่า 90% เพื่อขยายฐานการ ส่งออก และตั้งเป้าการส่งออกเป็น 8.4 พันล้านบาทในปี 2565 จากยอดการส่งออกปลานิล ในปัจจุบัน 5 พันล้านบาท และจะต่อยอดสู่หลักหมื่นล้านบาทให้ได้ในอนาคต เริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2562 เป้าหมายยกระดับเกษตรกร 1 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 แสนไร่

3.ปฏิรูปงานวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ เอกชน และชุมชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำจนเป็นเบี้ยหัวแตก ลดงานวิจัยขึ้นหิ้ง ผลักดันงบวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ต่อ GDP และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อ GDP หรือ 280,000 ล้านบาท จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 0.48% ต่อ GDP เท่านั้น

และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1) การพัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3) การลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาพื้นที่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และ 4) การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกร้อน

4. ปลดล็อกมหาวิทยาลัย พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก โดยการเดินหน้า ปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย ให้ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต ด้วยการทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) และปรับวิธีขอตำแหน่งวิชาการให้เหมาะสม พร้อมทั้งแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ระดับโลก 2. มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรม และ3. มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นตอบโจทย์พื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น

5. BCG in action สร้าง GDP ประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี การขับเคลื่อน BCG ระยะเร่งด่วนใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกษตรและอาหาร : มุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็น พรีเมี่ยมที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้สูง รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GDP ของภาคเกษตรได้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี

ด้านสุขภาพและการแพทย์ : มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ทางด้านการผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุฝังในร่างกาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาไปสู่การแพทย์แม่นยำ การเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพและการวิจัยด้านคลินิกชั้นนำของโลก เป้าหมายเพิ่ม GDP จาก 4 หมื่นล้านบาท เป็น 9 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปี ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ราคาสูงอย่างน้อย 300,000 คน/ปี ภายใน 5 ปี ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ : มุ่งเน้นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุชีวภาพมูลค่าสูง ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศด้วยมูลค่า GDP ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นมุ่งพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยการใช้จุดแข็งของพื้นที่มาสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ควบคู่กับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยวและป้องกันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นการค้นหารากเหง้าทางวัฒนธรรม และเนื้อหาอัตลักษณ์เชิงพื้นที่มาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง