เอสซีจี เผยแนวทางปั้นพนักงานเก่งและดี สร้างองค์กรนวัตกรรมชั้นนำในภูมิภาค สู้ศึกดิสรัปต์

พฤหัส ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๒:๒๙
หัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวข้ามความท้าทายในยามที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คือ "พนักงาน" เช่นเดียวกับ "เอสซีจี" ซึ่งมีอุดมการณ์สำคัญข้อหนึ่ง คือ "การเชื่อมั่นในคุณค่าของคน" เพราะเชื่อว่า "พนักงานเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่สุด" ที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ ดังนั้น นอกจากการให้ความสำคัญตั้งแต่การสรรหาบุคลากรมาทำงานแล้ว เอสซีจียังให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาบุคลากรเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลิตผลนวัตกรรมสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 องค์กรที่คนต้องการร่วมงานด้วยมากที่สุด ประจำปี 2560 จากการสำรวจของ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) รวมถึงเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2561 จากการสำรวจของ WorkVenture

เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ฟันเฟืองสำคัญผลักดันองค์กร

"ยุทธนา เจียมตระการ" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เล่าให้ฟังว่า เทคโนโลยีที่เข้ามามีผลต่อธุรกิจ อุตสาหกรรม วิถีชีวิตของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายและมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความผันผวนต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้ธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับตัว โดยมีการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

"คนของเอสซีจีจึงต้องประกอบด้วย 2 คุณสมบัติที่เด่นชัด คือ การเป็นคนเก่งและคนดี ซึ่งคนเก่งไม่ได้หมายความว่าต้องสอบได้คะแนนดี หากแต่ต้องรักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ส่วนคนดี หมายถึงคนที่เข้าใจบทบาทการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี ทั้งยังต้องมีภาวะผู้นำซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความอาวุโส แต่ต้องแสดงถึงความรับผิดชอบ การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการเปิดใจรับฟังความแตกต่าง และต้องกล้าท้าทายที่จะปรับปรุงการทำงานให้ดีกว่าเดิม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกับลูกค้า ตรงนี้ถือเป็นทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ที่เอสซีจีมุ่งเสริมสร้างและพัฒนาให้พนักงานทุกคน นอกเหนือจากทักษะด้านความรู้ความสามารถ (Hard Skills)"

ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสรรหาและพัฒนาบุคลากร

ยุทธนากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเอสซีจีได้ปรับปรุงแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคล และเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่การรับสมัครพนักงานผ่านเว็บไซต์ โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) มาช่วยคัดกรองใบสมัคร ด้วยการนำคุณสมบัติของผู้สมัครมาเปรียบเทียบกับคุณสมบัติที่กำหนดของแต่ละตำแหน่งงาน ทำให้สามารถตอบกลับผลการคัดเลือกไปยังผู้สมัครได้เร็วขึ้น ช่วยประหยัดเวลาให้ทั้งองค์กรและผู้สมัคร และทำให้องค์กรสรรหาคนที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

หลังจากรับพนักงานเข้ามาแล้ว เอสซีจีก็ได้นำระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ผ่านระบบ e-Platform มาช่วยในการติดตามและพัฒนาสมรรถนะของพนักงาน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน รวมทั้งรองรับการประเมินผลสมรรถนะรายปี ทั้งจากหัวหน้างานและพนักงาน ในการหาข้อบกพร่องหรือช่องว่างในการทำงาน เพื่อให้การวางแผนการพัฒนารายบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

"การพัฒนาพนักงานในปัจจุบันต้องเป็นแบบ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้พนักงานเอสซีจีทุกคนต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะทักษะด้านการให้บริการและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างก้าวกระโดด" ยุทธนาเสริม

70:20:10 สูตรพัฒนาคนรับความท้าทาย

การเรียนรู้ของพนักงานเอสซีจีไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาช่วยให้สัดส่วนการเรียนรู้แบบ 70:20:10 มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 70 แรก จะเป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริง โดยมีระบบ Performance management system (PMS) ให้พนักงานสามารถระบุรายละเอียดงานของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์หาจุดบกพร่องที่ต้องการเรียนรู้ เพื่อให้หัวหน้ารับรู้และให้พนักงานได้พัฒนาอย่างเหมาะสม

20 ต่อมาจะเป็นการพัฒนาพนักงานผ่านการให้คำแนะนำจากพี่เลี้ยงหรือผู้เชี่ยวชาญในองค์กร โดยมี Knowledge Management (KM) ให้พนักงานได้แสวงหาความรู้ ผ่านการใช้ Workplace ซึ่งเป็นโซเซียลมีเดียที่ใช้ในองค์กร โดยจะมีห้องต่าง ๆ ให้เข้าไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ทุกที่ทุกเวลาตามความสนใจ และ 10 สุดท้ายจะเป็นการเรียนทั้งในห้องเรียนและหลักสูตรออนไลน์ ผ่านระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning management system – LMS) ซึ่งเป็นโปรแกรมการนำเสนอการเรียนรู้ต่าง ๆ ว่าห้องเรียนใดเหมาะสำหรับพนักงาน ทั้งยังสามารถติดตามได้ว่าแต่ละคนเรียนหลักสูตรนั้น ๆ ครบถ้วนหรือไม่

Reskill – Upskill เสริมแกร่งศักยภาพคน ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

ถึงตรงนี้ยุทธนาบอกว่า เนื่องจากธุรกิจของเอสซีจีอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นต่าง ๆ กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างธุรกิจใหม่ ๆ จึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถรอบตัวด้วยการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้ดีขึ้น (Reskill) และการเสริมทักษะใหม่ที่จำเป็น (Upskill) เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น

"นอกจากองค์กรจะกำหนดทักษะใหม่ ๆ ของพนักงานที่ต้องการเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคตให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังมีการใช้ Design Thinking และ Business Model Canvas ที่มุ่งสร้างกระบวนการคิดให้พนักงานเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการใช้ Agile Process ที่มุ่งให้การพัฒนาและส่งมอบสินค้าและบริการหรือโมเดลทางธุรกิจปรับเปลี่ยนให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการนำแนวคิดและวิธีการทำงานของสตาร์ทอัพมาปรับใช้ ด้วยการทำโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพภายใน เพื่อพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานรวมถึงแนวคิดของคนในองค์กรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ"

Engagement สร้างการเติบโตให้พนักงานอย่างยั่งยืน

นอกจากกระบวนการพัฒนาพนักงานด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เอสซีจียังเน้นการสร้างความผูกพัน (Engagement Programs) เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งลูกค้าที่ได้รับนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ทำให้องค์กรเกิดการพัฒนา และทำให้พนักงานมีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (career path) ที่เหมาะสมตราบเท่าที่เป็นพนักงานเอสซีจี

"ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ที่เรามุ่งพัฒนา ดูแล และรักษาพนักงานทุกระดับ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานจนกระทั่งลาออกหรือเกษียณอายุ ทำให้ปัจจุบันอัตราลาออกของเอสซีจีอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และมีอายุงานเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ 12 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐานของโลก ทั้งยังจัดให้มีการสำรวจระดับความผูกพันของพนักงานทุก 2 ปี โดยล่าสุดมีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 67 ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในระดับปานกลางและไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เอสซีจีก็จะยังคงเดินหน้าพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน" ยุทธนากล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานที่เอสซีจีได้ที่ http://career.scg.com และสามารถติดตามข่าวสารที่น่าสนใจอื่น ๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง