ถึงเวลา “TIME” เสริมกำลังนโยบาย Thailand Plus Package ของรัฐบาล รูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ

พฤหัส ๑๙ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๐๒
ณ ห้องจามจุรี บอลรูม โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดงานสัมมนา "Thailand Plus Package ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย" ระดมภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาบุคลากรทักษะสูง และรูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหาผลิตภาพการผลิต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาเป็นเครื่องมือในการรับมือ โดยในปัจจุบันภาคเอกชนได้มีการนำ วทน. มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับกระบวนการผลิต สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลได้มากยิ่งขึ้น สร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรม และสามารถรองรับการเติบโตของภาคการผลิตและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ได้มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็น New Engines of Growth หรือเครื่องยนต์สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

การที่ประเทศไทยจะสามารถดำเนินงานไปยังทิศทางดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science,

Technology, Engineering and Mathematics : STEM) เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ และการเตรียมพร้อมเป็นฐานรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ภาครัฐจึงได้ริเริ่มมาตรการที่มุ่งเน้นเร่งรัดการลงทุนและการรองรับการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package โดยมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาทักษะและใช้ประโยชน์บุคลากรทักษะสูง ได้แก่ 1. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า และ 2. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดย สอวช. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้จริงในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 โดยมีการจัดทำรายละเอียดทักษะเพื่ออนาคต หรือ Future Skills Set หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรม (Registered Training Organization - RTO) และหลักเกณฑ์การรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย มีบุคลากรที่มีสมรรถนะที่สามารถตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก ทันต่อการเปลี่ยนงานและอาชีพในโลกอนาคต มีทักษะสอดคล้องกับที่ตลาดงานต้องการ และทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการลงทุนหรือการย้ายฐานการผลิตที่มาจากต่างประเทศในระยะยาวได้

นอกเหนือจากนี้ ไฮไลท์ของการจัดงานในครั้งนี้ คือการนำเสนอรูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ เช่น โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) ซึ่งมี สวทช. เป็นหน่วยบริหารจัดการ เพื่อให้บุคลากรบริษัทมีความรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับทักษะทางอุตสาหกรรมเพื่อเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้ภาคเอก ชนสามารถใช้ วทน. ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และยังเป็นการสร้างกลไกยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเป็นการวางระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทั้งในรูปแบบของการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) และหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) เพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

"TIME เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากการทดลองนำร่องโครงการ WiL และโครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช. ที่ประสบความสำเร็จ โดยจากการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่า บริษัทเกิดการพัฒนากระบวนการทำงานแบบข้ามสายงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามการพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมนั้น ต้องมีความร่วมมือจากสามภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาอย่างเข้มข้นในทุกระดับ โดยแต่ละภาคส่วนล้วนได้ประโยชน์ร่วมกัน สถานประกอบการจะได้แรงงานทักษะสูงที่เข้าใจเนื้องานและสามารถเชื่อมการเรียนรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล ภาคการศึกษาได้รับประโยชน์ในเชิงความร่วมมือและการพัฒนาปรับปรุงงานและหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้แก้ปัญหาคุณภาพและสมรรถนะของบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง โครงการ TIME จึงถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่เข้ากับบริบททางสังคมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย" ดร.พูลศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า TIME เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งในระดับ ปวส. ปริญญาตรี และปริญญาโท ได้เข้าไปเรียนและฝึกทักษะในสถานประกอบการ โดยโครงการ TIME ในระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรี เป็นการจัดระบบการศึกษาให้นักศึกษามีองค์ความรู้และทักษะสอดคล้องต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมผ่านการทำงานในสถานประกอบการพร้อมกับการลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานเสมือนเป็นพนักงาน และได้เรียนรายวิชาตามหลักสูตรหลังเลิกงานหรือวันหยุดในสถานที่ที่สถานประกอบการจัดให้ ส่วน TIME ระดับปริญญาโท เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโท พร้อมกับเข้าทำงานเต็มเวลาในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยจัดให้มีการเรียนและการฝึกทักษะการทำงานตามกระบวนการการพัฒนาบุคลากรผู้มีความรู้ด้านการจัดการนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรม (RDI QS) ในสถานประกอบการ เพื่อดำเนินโครงการนวัตกรรมและนำเสนอเป็นผลงานทางวิชาการผ่านโครงการวิทยานิพนธ์

"การดำเนินโครงการ TIME ระดับ ปวส. และปริญญาตรี เราคาดหวังว่าจะช่วยบ่มเพาะให้นักศึกษาก้าวสู่การเป็นบุคลากรทักษะสูงที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระดับประเทศ (High Qualified Workforce / Technician) ช่วยสถานประกอบการแก้ปัญหา Turnover เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสถานศึกษาจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท สำหรับระดับปริญญาโท TIME จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Demand-driven) ตลอดจนสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรม" ดร.ฐิตาภา กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง