เวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบพร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี

ศุกร์ ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๔:๐๔
องค์กร Protection International โดยการสนับสนุนจากสถานฑูตแคนนาดา แถลงข่าวเปิดตัวผ้าปักควิลท์ "จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance พร้อมเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ พร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี พบภาคกลางถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเยอะสุด รองลงมาคือภาคอีสาน เหนือและใต้ และสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 คน จี้รัฐ ยกเลิกดำเนินคดีทุกคดี ด้าน"อังคณา" ชี้ หลังเลือกตั้งแต่ผลพวงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตยังคงอยู่ –ความเห็นต่างยังถูกจำกัด
เวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบพร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี

วันที่ 4 ก.พ. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Protection International โดยการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดา แถลงข่าวเปิดตัวผ้าปักควิลท์ "จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance "พร้อมเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ"

Dr.Sarah Taylor เอกอัครทูตแคนาดาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาร่วมงานนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ให้ความสนใจมาตั้งนานแล้ว และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกัน สำหรับตัวศิลปะผ้าปักควิลท์นั้น เป็นการเปิดให้เห็นถึงการต่อสู้ปกป้องของนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือการเล่าเรื่อง เพราะเป็นเรื่องที่ใช้กันทั่วโลก ในการอยากให้คนอื่นเข้าใจ และให้คนอื่นมามีส่วนร่วมในการต่อสู้

"ทำไมสถานทูตแคนาดาถึงสนับสนุนโครงการนี้ ไม่ใช่เพราะเราอยากไปชี้นิ้วว่าไทยยังทำไม่ดี หรือสังคมไทยต้องทำนู้นทำนี่ แต่เราทำด้วยความสมานฉันท์ และเป็นมิตรกับประเทศไทย สำหรับแคนนาดาเรื่องสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมาก และแคนนาดายังมีปัญหาเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศเองด้วย ดังนั้นสิ่งนี้คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันได้ ในแคนาดาเองก้กำลังแก้ปัญหาเรื่องผู้หญิงชนพื้นเมืองที่หายตัวไป ดังนั้นเราเองต้องเดินทางอีกยาวไกลเรื่องสิทธิมนุษยชน และจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนอื่น ทั้งนี้ความหลากหลายในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ในสังคมมีความหลากหลายต่างกัน มีมุมมองต่างกัน แคนาดาส่งเสริมสังคมที่ไม่กีดกันและให้พื้นที่สำหรับทุกคน จะทำให้สังคมดีขึ้น"เอกอัครทูตแคนาดาประจำประเทศไทยกล่าว

สถิติพุ่ง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกกฎหมายคุกคาม 440 ราย

น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นที่น่าตกใจว่าสถิติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐประหาร 2557-2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 179 คน แต่ในปัจจุบันหกปีผ่านไปเพิ่มขึ้นเป็น 440 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งแทนที่ตัวเลขจะลดลง ปรากฏว่าสถิติกลับพุ่งสูงขึ้น และพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเพียง 25 คนจากทั่วประเทศเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุนยุติธรรม

ตัวแทนจากProtection International ยังเปิดเผยต่อว่า ระหว่างปี 2557-2562 ว่า มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างน้อย 440 คน แบ่งเป็น ความผิดฐานบุกรุก 83 คน ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดฐานหมิ่นประมาท จำนวน 36 คน ความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 35 คน คดีขัดคำสั่งคสช.3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปพ่วงด้วยคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฏหมายอาญา ม. 116 จำนวน 22 คน คดีขัดคำสั่งคสช. 3/2558 จำนวน 20 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน คดีสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน คดีร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน คดีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำนวน 8 คน และคดีร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆให้ทางสาธารณะประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร และ คดีบุกรุกสถานที่ราชการอย่างละ 1 คน นอกจากนี้ยังมีคดีขับไล่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ อีกประมาณ 200 คน และเมื่อนำสถิติทั้งหมดมารวมกันเป็นภูมิภาคจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุดถึง 235 คน รองลงมาคือภาคอีสาน 129 คน ภาคเหนือ 44 คน และภาคใต้ 32 คน

"ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เป็นผู้สร้างคุณูปการในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ขึ้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน แต่กลายเป็นว่าลุกขึ้นมาสู้เมื่อไหร่ก็โดนคุกคาม ฟ้องร้องทางคดี ทำร้าย ให้ร้าย ตีตรา ข่มขู่ โจมตีเมื่อนั้น ซึ่งประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากแต่การรับรู้ของสังคมยังมีอยู่น้อยและไร้ซึ่งความตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ เราจึงคิดกิจกรรมที่จะทำให้พวกเธอได้แสดงออก บอกเล่าเรื่องราวและช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเด็นการต่อสู้ เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอมากขึ้นโดยการจัดทำโครงการผ้าปักควิลท์ "จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistanceขึ้น ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาสองปี โดยเริ่มจากปีที่แล้วซึ่งเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องราวของแต่ละคน เป็นเรื่องราวของผู้หญิงหลายล้านคนในโลกใบนี้ ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกันในการต่อสู้" น.ส.ปรานมระบุ

น.ส.ปรานม กล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ด้วยว่า สิ่งแรกจะต้องมีพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้บอกว่าถึงความต้องการ และเมื่อพวกเธอบอกแล้ว ต้องฟังและหาทางออกร่วมกัน รัฐต้องไม่ลงโทษพวกเธอที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อเราทุกคน เช่น ต้องยุติการใช้คดีความกลั่นแกล้ง และยุติการคุกคามในทุกรูปแบบเมื่อนักปกป้องสิทธิลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ด้วยการยกเลิกคดีทุกคดีที่มีการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทุกคน การลงพื้นที่ไปรับฟังผู้หญิงถึงสิ่งที่ต้องการและมีการนำไปปฏิบัติ รวมถึงในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องยุติการบังคับตรวจดีเอ็นเอและการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งทำให้ผู้หญิงในสามจังหวัดไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสันติภาพและปราศจากความกลัวในพื้นที่

หลังเลือกตั้งแต่ผลพวงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตยังคงอยู่พร้อมระบุที่ผ่านมา จนท รัฐบางคนยังมองนักสิทธิฯ เป็นศัตรู

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ 2562 กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบว่า หลังการเลือกตั้งแม้ประเทศไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การใช้เสรีภาพกระทำได้มากขึ้น แต่ผลพวงของการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐบางฝ่าย และกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงอยู่ เช่น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นยังถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดีในศาล ซึ่งในทุกสถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงมักเป็นแกนนำในการปกป้องทรัพยากร สิทธิชุมชน หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ผู้หญิงหลายคนถูกจับ ถูกดำเนินคดี ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย

"แม้รัฐจะมีกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่การพิจารณาของกองทุนมีความล่าช้า ที่สำคัญกรรมการกองทุนมักเป็นคนในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่บางฝ่ายที่มักเป็นปฏิปักษ์ต่อนักสิทธิมนุษยชนและแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย หากแต่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนในหลายพื้นที่มักมองผู้เห็นต่างด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ จนนำไปสู่ความพยายามจำกัดเสรีภาพของบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักพบการท้าทายในรูปแบบต่างๆกัน โดยเฉพาะมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง และมีความเปราะบางในความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากขึ้น" นางอังคณากล่าวและว่าเมื่อเดือนปลายปี 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้รับรองแผนปฏิบัติการชาติ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงยุติธรรมจะได้ดำเนินมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหามาตรการยุติการคุกคามโดยกฎหมาย (judicial harassment) ในการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อยุติการมีส่วนร่วมสาธารณะของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อมาสนช.ได้ปรับปรุงกฎหมาย มาตรา 161/1 เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีที่จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้ อย่างไรก็ดี พบว่าที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้นำมาตรามาใช้นี้เพื่อป้องกันการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งนักสิทธิมนุษยชน

เรียกร้องรัฐ จัดสรรที่ดินวางเปล่าให้คนจนเมือง

ขณะที่น.ส.สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้สถานการณ์ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ว่า การเรียกร้องสิทธิโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยถูกมองข้าม แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าในยุคคสช. ที่การยื่นหนังสือหรือการเรียกร้องสิทธิ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ปัจจุบันหลังการเลือกตั้งสามารถที่จะไปยื่นหนังสือผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่ต้องหวาดระแวง แตกต่างไปจากสมัยที่ยังมีคสช.ที่ทำอะไรไม่ได้ โดยเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันนั้นมีจำนวนเยอะมาก ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้หญิงในทุกช่วงวัยที่มาร่วมกันรณรงค์ในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนจนเมืองนั้น เห็นว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ดังนั้นเห็นว่ารัฐควรจัดสรรที่ดินว่างเปล่าของรัฐให้กับคนจนเมือง ดีกว่าจะไปจัดสรรให้กับภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ หรือให้คนจนเข้าถึงการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน เช่น สลิปเงินเดือน หรือผู้ค้ำประกัน

หวังตม.เข้าใจบทบาทตามกฎหมายใหม่ คุ้มครองมากกว่าปราบปราม

ด้านน.ส.พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rights กล่าวว่า ปัจจุบันมีพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพียงฉบับเดียวที่นำมาใช้บังคับกับผู้ลี้ภัย แต่เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารประจำตัวหรือเอกสารการเข้าเมือง และส่วนมากต้องใช้ระยะเวลารอคอยอย่างยาวนานก่อนเดินทางไปประเทศที่สาม เกือบทั้งหมดจึงผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งปัญหาที่พบคือผู้ลี้ภัยไม่ได้รับสิทธิในการประกอบอาชีพ แต่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ต้องแอบไปรับจ้างทำงานในราคาที่ต่ำกว่าทั่วไป ไม่สามารถต่อรองกับนายจ้าง ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามซึ่งจะไม่มีการแจ้งความเอาผิดเพราะตัวเองเป็นผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง และหากมีกรณีสามีถูกจับกักอยู่ในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้หญิงก็ต้องรับภาระดูแลลูกตามลำพัง

น.ส.พุทธณี กล่าวถึงจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองว่า ถ้าอ้างอิงตามสถิติของ UNHCR พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดในเมืองมีประมาณ 5,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง และชาย ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เพราะส่วนใหญ่ลี้ภัยมาในรูปแบบของครอบครัว โดยพบว่าชาติที่มีการลี้ภัยในเมืองในประเทศไทยสูงสุดคือปากีสถาน และยังมีชาติอื่นๆ เช่น เวียดนาม โซมาเลีย ซีเรีย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าสำหรับผู้ลี้ภัยไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด ก็ดำเนินชีวิต หรือมีสภาพที่ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าใดนัก สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหานั้น ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มใส่ใจกลุ่มคนกลุ่มนี้มากขึ้นกว่าในอดีต ล่าสุดมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามกฎหมายนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นทีมเลขา ซึ่งถือว่าประเด็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมา สตม.ทำหน้าที่ปราบปราม แต่กฎหมายนี้คือการคุ้มครอง ดังนั้นต้องทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่ากฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองมากกว่าการปราบปรามแบบที่เคยทำมา เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ขอคำนิยามสถานะ "ผู้หญิงพิการ"ให้ชัดเจนในกฎหมาย

น.ส.กัชกร ทวีศรี สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ กล่าวว่าสถานการณ์ในภาพรวมในมุมมองระดับชาติดูโอเคเพราะมีแผนระดับชาติเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นแผนฉบับที่2 ที่มีการเชิญชวนให้ผู้หญิงพิการรวมตัวกันและกลับไปตั้งองค์กรในพื้นที่ของตัวเองในแต่ละจังหวัด พร้อมกับมีตัวชี้วัดโดยใช้จำนวนการจัดตั้งองค์กรทั่วประเทศ แต่ส่วนตัวมองว่าผู้หญิงพิการไม่ได้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในโครงสร้างเชิงอำนาจเท่าที่ควร นอกจากนี้ผู้หญิงพิการที่เข้ามาจัดตั้งองค์กรในพื้นที่ของตัวเองยังมีวิธีคิดที่ไม่เข้าใจในเรื่องความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง เช่น หลายคนเป็นอาสาสมัครในชุมชน พูดแต่เรื่องการป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สอดคล้องในเรื่องของโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่จะต้องเป็นผู้ที่มีการแสดงความเห็นหรือการส่งเสียงของความต้องการของตัวเองเพื่อนำไปสู่ประเด็นปัญหา การวางแผน แก้ไขปัญหา

น.ส.กัชกร กล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายคนพิการถือเป็นกฎหมายลักษณะกลางๆที่ไม่มีการระบุให้ชัดเจน หรือ เจาะจง ดังนั้นสิ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในกฎหมายจะไม่ได้รับการปฏิบัติ รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้หญิงพิการได้สิทธิ์อะไรบ้าง เพราะบางประเด็นไม่สามารถเขียนในแบบกลางๆได้ ดังนั้นกรอบของโครงสร้างทางสังคมจะต้องเข้ามาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ พร้อมกันนี้ยังเสนอแนะว่าหน่วยงานรัฐต้องให้นิยามสถานะของผู้หญิงพิการอย่างชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ให้เป็นเพียงไม้ประดับในเวทีเสวนาต่างๆ เพราะไม่ส่งเสริมให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ห่วงรัฐปฏิบัติการ IO ในพื้นที่ชายแดนใต้

น.ส.อันธิชา แสงชัย ผู้ก่อตั้ง Buku FC กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานการณ์ความรุนแรงยาวนานถึง 16 ปี ในบางช่วงที่เป็นประชาธิปไตยจะทำการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดเปิดมากกว่า ซึ่ง 6 ปีให้หลังนี้ ปัญหาบางอย่างแก้ไขได้ยากขึ้น โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากปัญหาทับซ้อนของการออกมาพูดเรื่องทรัพยากรของชุมชนจะกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง และมีการควบคุมที่เข้มข้น เข้มงวด นอกจากนี้ยังมิติอื่นๆ ในเรื่องของเพศ ที่จะมีกรอบวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ในพื้นที่ ซึ่งการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ ทั้งจากชุมชน ครอบครัว และภาครัฐ

"โดยเฉพาะภาครัฐที่การทำงานพื้นที่ในบางประเด็น จะนำไปสู่การเชื่อมโยงทางการเมืองมากขึ้นมีการใช้IO เชิงข้อมูลข่าวสารโจมตี นอกจากนี้ผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้มีการเยี่ยมเยียนจากฝ่ายความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ กับผู้หญิงที่ทำงานกับการต่อสู้ทางความคิด" ผู้ก่อตั้งBuku FC

ความเป็นมาผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 54 คน สะท้อนการต่อสู้ผ่านผ้าปักควิลท์

สำหรับ"กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์" จึงเป็นแนวทางการทำงานอีกมุมหนึ่ง ที่เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอุปสรรคและผลกระทบที่พวกเธอต้องพบเจอในการลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามข้อเสนอของพวกเธอซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ ( คณะกรรมการซีดอ CEDAW) โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ ที่โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบพร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี เวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบพร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี เวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบพร้อมเผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง