ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2562

อังคาร ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๐๘:๕๗
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2562 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นจากการรับรู้กำไรพิเศษเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,845 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน การออกหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งเพื่อรองรับการควบรวมกิจการ รวมถึงการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.6 เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงที่ 701.2 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.4 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ทรงตัวที่ร้อยละ 149.9 ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 187.5

ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 270.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 30.8 ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงเล็กน้อยจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและรายได้ค่านายหน้าขายหลักทรัพย์ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.39[1] จากร้อยละ 1.11 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.73

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยมีรายละเอียดดังนี้

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 64.1 ของสินเชื่อรวม) หดตัวร้อยละ 0.8 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการชำระคืนหนี้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวร้อยละ 1.9 และสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวร้อยละ 2.1 ทั้งนี้สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท) ขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2562

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 35.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากปีก่อนในประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ในระดับสูง

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) อยู่ที่ 465 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.98 โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อด้วยการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.42 ณ สิ้นปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.79 จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๙ ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๑๗:๕๑ GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๑๗:๒๗ กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๑๗:๑๔ กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๑๗:๒๕ First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๑๗:๐๒ CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๑๗:๑๑ บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๑๗:๕๒ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๑๗:๐๑ รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๑๗:๔๓ กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว