รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2563

พฤหัส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๖:๒๘
เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ควรต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563”

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ควรต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 37.1 จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูลกาลแล้ว สอดคล้องกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.9 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) จากประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบการส่งออก

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี เช่นเดียวกันกับยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -17.4 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกษตร ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรม และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ ตลาดสหรัฐฯและจีนยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 5.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกไปอาเซียน 5 ประเทศที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ฮ่องกง และแอฟริกายังคงชะลอตัว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า ในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -7.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนมกราคม 2563 ขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.81 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวลง -3.7 ต่อปี ในขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วน ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ แอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่รดับ 92.2 ตามการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 230.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว