โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันฯ แหล่งผลิตไข่ไก่ปลอดภัยของชุมชน

พฤหัส ๐๒ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๓:๔๔
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ช่วยให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร เข้าถึงโปรตีนคุณภาพสูงจากไข่ไก่ได้ โดยเฉพาะช่วงโรงเรียนปิดเทอมจะบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ จำหน่ายชุมชนรอบข้าง ในราคาย่อมเยาและพอเพียง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในสถานการณ์ที่คนไทยต้องร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤติโควิด-19

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นโครงการที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ 824 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคอาหารโปรตีนคุณภาพ คือ ไข่ไก่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดเทอมโรงเรียนไม่ต้องนำผลผลิตไข่ไก่ไปทำเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน จึงมีการบริหารจัดการผลผลิตที่สดและปลอดภัยขายให้กับคนในชุมชน

ร.ต.อ. กำจัด ผาใต้ ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทย จ.สกลนคร กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯป็นมาเป็นปีที่ 18 แล้ว โดยทางซีพีเอฟและมูลนิธิฯมอบไก่พันธุ์ไข่ให้ 200 ตัว ปัจจุบันเก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 185 ฟอง เพื่อนำเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน แต่ในช่วงปิดเทอม ก็จะนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับชุมชน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ค่ายศรีสกุลวงศ์ ในราคาย่อมเยา แผง (30 ฟอง) ราคา 100 บาท ซี่งถูกกว่าราคาตลาด

นอกจากนี้ ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่งโรงเรียนนำไปแลกกับปุ๋ยคอกของชุมชน เนื่องจากพื้นที่ทำเกษตรที่โรงเรียนมีพื้นที่ถึง 85 ไร่ จึงต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมากเพื่อใส่แปลงเกษตร โดยไข่ไก่ 1 แผงแลกปุ๋ยได้ 10 กระสอบ

“โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน 18 ปีแล้ว เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก โดยวัตถุประสงค์หลักคือช่วยให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน แก้ปัญหาทุพโภชนาการของนักเรียน ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ขณะเดียวกันเราขยายผลของโครงการสู่ชุมชนรอบๆข้าง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งราคาไข่ไก่ในท้องตลาดมีราคาแพงมาก แต่ชุมชนซื้อในราคาถูกกว่าตลาด” ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทยกล่าว

ด้านคุณครูเรวดี โรจน์ประโคน ครูชำนาญการพิเศษ และผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) ต.บ้านดู่ อ. เมือง จ. เชียงราย กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมซึ่งโรงเรียนยังคงเลึ้ยงไก่ต่อเนื่อง จึงนำไข่ไก่ขายให้ชุมชนและผู้ปกครองนักเรียนในราคาเดิม คือ แผงละ 70 บาท โดยมีผลผลิตไข่ไก่เพื่อจำหน่ายวันละประมาณ 8 แผงต่อวัน เนื่องจากไก่ที่เลี้ยงไว้ 300 ตัว ผลผลิตไข่ได้วันละ 240-250 ฟอง ช่วยให้มีไข่ไก่เลี้ยงชุมชนอย่างพอเพียงช่วงที่ความต้องการสูงขณะนี้

นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เมื่อปี 2562 โดยได้รับมอบแม่พันธุ์ไก่ไขให้ 100 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 95 ฟอง ในช่วงปิดเทอม ทางคุณครูเวรจะมาช่วยดูแลเก็บผลผลิตไข่ไก่ รวมทั้งผู้พิการที่ทางซีพีเอฟจ้างไว้ให้ช่วยงานที่โรงเรียนช่วยดูแลความสะอาดของโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงเรียนนำผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชนแผงละ 100 บาท แต่จำกัดการขายให้ซื้อได้ครอบครัวละ 1 แผงต่อสัปดาห์ เพื่อกระจายผลผลิตไข่ไก่ให้แก่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของโควิด –19 ซึ่งความต้องการไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ราคาก็แพงขึ้น โรงเรียนภูมิใจและดีใจที่โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน สามารถช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนในชุมชนได้บ้าง

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนอีกหลายแห่งที่มีการบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ในช่วงปิดเทอม เพื่อจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา อาทิ โรงเรียนบ้านแปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 67-70 ฟอง จำหน่ายให้ชุมชนได้วันละ 2 แผงในราคาแผงละ 90 บาท โรงเรียนบ้านบ่อหลวง จ.น่าน เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว มีผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 90 ฟองต่อวัน หรือประมาณ 3 แผงต่อวัน ขายให้ชุมชนราคาแผงละ 90 บาท โรงเรียนวัดบางปิดล่าง ศูนย์ปัญจวิทยาคาร อ.แหลมงอบ จ.ตราด เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว ให้ผลผลิตวันละ 90-95 ฟอง จำหน่ายไข่ไก่ให้กับชุมชนและผู้ปกครอง แผงละ 100 บาท คละไซส์ ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด โรงเรียนบ้านไทรงาม ต.สวนขัน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช เลี้ยงไก่ไข่ 170 ตัว ผลผลิตไข่ไก่ 130 ฟอง ขายไข่ไก่ให้ชุมชน 80-90 บาทต่อแผงขึ้นกับขนาดของไข่ไก่ เป็นต้น

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดารได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน และมีประสบการณ์ ทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอื่นๆ ส่งผลให้นักเรียนมากกว่า 160,000 คน และชุมชนมากกว่า 1,000 แห่ง ได้รับประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ จัดผู้ชำนาญการและสัตวบาล ติดตามให้ความรู้และให้คำแนะนำในการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งขยายผลการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน และกระจายผลผลิตไข่ไก่ให้ชุมชนได้บริโภคไข่ที่สะอาด ปลอดภัย และราคาย่อมเยาอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๓๐ เม.ย. GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๓๐ เม.ย. PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๓๐ เม.ย. LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๓๐ เม.ย. ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๓๐ เม.ย. LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๓๐ เม.ย. SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๓๐ เม.ย. STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๓๐ เม.ย. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน